เมื่อพูดถึงการแต่งงาน หนึ่งสิ่งที่เจ้าบ่าวเจ้าสาวต้องกังวงอยู่เสมอก็คือเรื่องสินสอด สงสัยกันหรือไม่ว่าทำไมการแต่งงานของคนสองคนถึงมีปัจจัยเรื่องเงินเข้ามาเกี่ยวข้อง แท้จริงแล้วเรื่องนี้มีที่มานะ งานนี้ ใครที่กำลังสงสัยอยู่เราหาคำตอบมาให้คุณแล้ว!
มุมมองเรื่อง สินสอดแต่งงาน ในเชิงเศรษฐศาสตร์
เมื่อพูดถึง “การแต่งงาน” ในเชิงเศรษฐศาสตร์สามารถกล่าวได้ว่าเป็นการสร้างข้อตกลงร่วมกันอย่างหนึ่ง โดยมีเรื่อง สินสอดแต่งงาน เข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่ง สินสอดแต่งงาน จะถูกทดแทนเป็นราคาที่ต้องจ่าย แต่เมื่อพูดถึง “สินสอด” ในเชิงอื่น ๆ เช่นวัฒนธรรมไทย คุณจะพบว่า สินสอดแต่งงาน นั้นมีความสำคัญเป็นเครื่องยืนยันว่าฝ่ายชายจะแต่งงานกับฝ่ายหญิงแน่นอน อีกนัยหนึ่งก็คือสินสอดเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าฝ่ายชายสามารถดูแลเจ้าสาวได้
ซึ่งค่อนข้างแตกต่างกับการตีความ สินสอดแต่งงาน ในแง่ของเศรษฐศาสตร์ เนื่องจากการตีความในเชิงเศรษฐศาสตร์ถูกจัดให้เป็นราคาทางเศรษฐศาสตร์รูปแบบหนึ่งของข้อตกลงแต่งงาน
โดยวิทยานิพนธ์ หลักสูตรเศรษฐศาสตรมหาบัณฑิต คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ของ ภศุ ร่วมความคิด เรื่อง ‘ ถ้าฉันจะแต่งงาน ควรจะได้รับ/จ่ายสินสอดเท่าไร ’ เมื่อปี 2549 มองเรื่องสินสอดในมุมของนักเศรษฐศาสตร์ โดยระบุว่า
สินสอดเป็นราคาในทางเศรษฐศาสตร์ ไม่มีการซื้อขายผ่านตลาด ต้องผ่านกระบวนการเจรจาต่อรองสู่ราคาที่ทั้งสองฝ่ายพึงพอใจหรือราคาดุลยภาพ
โดยวิทยานิพนธ์ชิ้นนี้ เป็นการศึกษาเชิงประจักษ์ ประเมินมูลค่าสินสอด โดยใช้แบบจำลองที่เรียกว่า เฮดโดนิค (Hedonic Pricing Model : HPM) ซึ่งมักถูกนํามาใช้ศึกษาราคาที่พักอาศัย ซึ่งขึ้นอยู่กับคุณลักษณะหรือตัวแปรต่าง ๆ ได้แก่ ทัศนียภาพ ระยะทางจากใจกลางเมือง ขนาดของพื้นที่ และคุณลักษณะรอบที่พักอาศัย
ผลการศึกษาของภศุพบว่า ปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อราคาสินสอด ขึ้นอยู่กับระดับรายได้ การศึกษา ภาระรับผิดชอบต่อครอบครัว และการแต่งงานเป็นลำดับแรกของครอบครัว ขณะที่ทรัพย์สินมีผลน้อยมาก และภาระความรับผิดชอบต่อค่าใช้จ่ายในการแต่งงานและอาชีพไม่มีผลต่อมูลค่าสินสอด
เมื่อระดับรายได้ของคู่บ่าวสาวเพิ่มขึ้นประมาณ 1 เท่าตัว กลับพบว่าฝ่ายชายยินดีจ่ายค่าสินสอดเพิ่ม 20% ขณะที่ฝ่ายหญิงจะเรียกสินสอดเพิ่ม 32% ซึ่งไม่ตรงกัน
ถ้าฐานะการงานของทั้งคู่ดีและคบกันนาน ฝ่ายชายยินดีที่จะจ่ายเงินค่าสินสอดเพิ่มขึ้น ขณะที่เรื่องนี้ไม่มีผลกับผู้หญิง นั่นคือถึงจะคบระยะสั้นๆ ก็เป็นไปได้ที่ฝ่ายหญิงจะเรียกค่าสินสอดในระดับสูงตามความพอใจของตน และถ้าฝ่ายเจ้าบ่าวเป็นคนกรุงเทพฯ เจ้าสาวมีแนวโน้มจะเรียกค่าสินสอดเพิ่มขึ้น แตกต่างจากฝ่ายชาย แม้ตนเป็นคนต่างจังหวัด เจ้าสาวเป็นคนกรุงเทพฯ ก็ไม่ได้คิดที่จะจ่ายเงินค่าสินสอดเพิ่มแต่อย่างใด
ฟังดูอาจเป็นเรื่องโหดร้ายที่คุณนำเศรษฐศาสตร์มาใช้ในการตีค่าความรักของคนสองคน แต่ถ้ามองในแง่ดีวิธีคิดแบบนี้ก็ทำให้เกิดความยุติธรรมกับทั้งสองฝ่าย เนื่องจากเป็นการตีค่าผ่านทางตัวเลข ไม่ใช่ความรู้สึก