ความสัมพันธ์ทางการค้าที่ตึงเครียดระหว่างประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกกำลังทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดเหล่านี้ ประกอบกับความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่เพิ่มขึ้นนั้น ได้ส่งผลให้บริษัทต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคการผลิต มีต้นทุนการทำธุรกิจสูงขึ้น ขณะที่ประเทศซึ่งเคยถูกมองว่าเป็นมหาอำนาจด้านการผลิต ก็กำลังสูญเสียสถานะดังกล่าว เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ดังนั้น เพื่อตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้น พร้อมกับรักษาความสามารถในการแข่งขัน หลายบริษัทจึงได้เริ่มมองหาหนทางที่จะโยกย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่มีเสถียรภาพมากกว่า แต่มีต้นทุนที่ต่ำลง
ด้วยเหตุนี้ ประเทศต่าง ๆ อย่างเช่น เวียดนาม ไทย และฟิลิปปินส์ จึงมีกิจกรรมการผลิตที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน โดยหลายภาคส่วน ตั้งแต่สินค้าอุปโภคบริโภคและยานยนต์ ไปจนถึงภาคอุตสาหกรรมและเคมี ต่างแสดงความสนใจและมีการลงทุนเพิ่มขึ้นในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ยังคงมีคำถามว่า ผู้ผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มีความพร้อมที่จะรับมือกับการเติบโตในอัตราที่รวดเร็วหรือไม่
เพื่อการเติบโตที่ต่อเนื่องและยั่งยืน บรรดาผู้ประกอบการต้องแน่ใจได้ว่า โรงงานผลิตของตนทำงานได้อย่างเต็มกำลัง อุปกรณ์ที่สำคัญต่อกระบวนการผลิต อาทิ ระบบอัดอากาศ ต้องทำงานได้อย่างเสถียร ประหยัดพลังงาน และเชื่อถือได้ เพื่อให้ผู้ประกอบการยังคงความสามารถในการแข่งขัน พร้อมทั้งจัดการกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อย่างไรก็ตาม การเลือกคอมเพรสเซอร์หรือระบบอัดอากาศที่เหมาะสม อาจเป็นงานยากและซับซ้อน ไม่ว่าจะซื้อเครื่องใหม่หรืออัพเกรดของเดิม ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพิจารณาหลายปัจจัยประกอบกันเพื่อที่จะมั่นใจว่าเลือกอุปกรณ์ได้ถูกต้อง ซึ่งกระบวนการดังกล่าวเริ่มตั้งแต่การวิเคราะห์ความต้องการการใช้งานระบบอัดอากาศ ตามด้วยการจัดทำข้อมูลความต้องการอย่างละเอียด เพื่อสร้างความมั่นใจว่าสามารถเลือกโซลูชั่นที่ตรงตามความต้องการ ขณะเดียวกันก็อยู่ภายในข้อจำกัดทางการเงินทั้งระยะสั้นและระยะยาว
การวางแผนคือกุญแจสำคัญ
ก่อนซื้อคอมเพรสเซอร์สักตัวหนึ่ง ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเก็บข้อมูลต่าง ๆ จากทั่วทั้งเครือข่ายระบบอัดอากาศ ข้อมูลเหล่านี้สามารถช่วยในการตัดสินใจได้ ไม่ว่าจะเป็นความต้องการอากาศอัดในปัจจุบันและอนาคต คุณภาพของอากาศอัดที่ต้องการ รวมถึงพิจารณาว่า มีการนำความร้อนทิ้งจากคอมเพรสเซอร์มาใช้กับกระบวนการปฏิบัติงานอื่นหรือไม่ หากเป็นการเพิ่มคอมเพรสเซอร์เข้ามาในตัวเครื่องที่มีอยู่เดิม ผู้ประกอบการก็จำเป็นที่จะต้องพิจารณาการติดตั้งเทคโนโลยีควบคุมร่วมด้วย
โดยทั่วไปแล้ว ผู้ประกอบการควรวัดความต้องการอากาศอัดในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่งเพื่อนำมาจัดทำข้อมูลความต้องการอย่างละเอียด การทำเช่นนั้นจะช่วยให้ตัดสินใจเลือกคอมเพรสเซอร์ได้ง่ายขึ้น และมั่นใจได้ว่าซื้ออุปกรณ์ที่เหมาะกับการใช้งานจริง
พิจารณาต้นทุนตลอดอายุการใช้งาน
พลังงานคิดเป็นสองในสามของต้นทุนตลอดอายุการใช้งานของระบบอัดอากาศ ดังนั้น จึงเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่งที่ผู้ประกอบการจะต้องให้ความสำคัญกับต้นทุนตลอดอายุการใช้งานมากกว่าราคา เพราะระบบที่มีราคาขาย (sticker price) ต่ำ อาจช่วยประหยัดได้ในระยะสั้น แต่การประหยัดต้นทุนดังกล่าวก็อาจไร้ประโยชน์หากระบบมีอายุการใช้งานไม่นาน
เลือกหลักการทำงานที่เหมาะสม
เทคโนโลยีคอมเพรสเซอร์แต่ละแบบไม่ได้ให้ประสิทธิภาพการทำงานเท่ากันทั้งหมด นอกจากแบบลูกสูบ สกรู และเทอร์โบที่คุ้นเคยกันอยู่แล้ว ปัจจุบันยังมีหลักการทำงานและเทคโนโลยีกำลังขับแบบใหม่ ๆ หลายรูปแบบซึ่งถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพพลังงานดีขึ้น และในบางกรณียังเหมาะกับการใช้งานเฉพาะด้านอีกด้วย
ทั้งนี้ เป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนแนวทางและการเลือกอุปกรณ์ โดยไม่มีอคติหรือคิดไปก่อนล่วงหน้าเกี่ยวกับชนิดของคอมเพรสเซอร์ ความจุ หรือข้อมูลจำเพาะ ผู้ประกอบการจำเป็นต้องพิจารณาหลักการทำงาน คุณภาพ และประสิทธิภาพ นอกเหนือไปจากวัตถุประสงค์การใช้งานและงบประมาณ จากนั้นจึงประเมินตัวเลือกที่มีอยู่อย่างรอบคอบ เพื่อให้แน่ใจว่าอุปกรณ์ที่จะซื้อนั้นตรงกับความต้องการ