
ธุรกิจดิวตี้ฟรีหรือร้านขายสินค้าปลอดอากร ของประเทศไทยในภาพรวมนั้นต่อปีมีมูลค่านับแสนล้านบาท ซึ่งในภาพรวมแล้วมองดูผิวเผินอาจจะคิดว่ามีเพียงผู้ประกอบการรายเดียวเท่านั้นที่เป็นผู้เล่นในตลาดนี้ คือ บริษัท คิง เพาเวอร์ จำกัดแต่จริงๆแล้วตลาดนี้มีผู้เล่นหลายราย เพียงแต่กลุ่มคิง เพาเวอร์อาจจะเป็นกลุ่มใหญ่สุด เพราะเป็นผู้เปิดประเดิมธุรกิจนี้เป็นเจ้าแรก ๆ ทำให้พอนึกถึงก็ต้องนึกถึงคิง เพาเวอร์
โดยกลุ่มผู้เล่นของตลาดนี้นอกจากคิง เพาเวอร์ แล้ว ยังมีกลุ่มอื่นๆ อีก คือ กลุ่มเดอะมอลล์ และล่าสุดคือกลุ่ม ล็อตเต้ กรุ๊ป จากเกาหลี ซึ่งกลุ่มนี้ได้เข้ามาในประเทศไทยแล้ว ภายใต้ชื่อบริษัท ล็อตเต้ ดิวตี้ฟรี ไทยแลนด์ โดยได้เช่าพื้นที่ 1 หมื่นตารางเมตร (ตร.ม.) ใน “โชว์ ดีซี” ศูนย์การค้าและเอ็นเตอร์เทนเมนต์ครบวงจร บนถนนพระราม 9 ซึ่งมีกำหนดในการเปิด “ดิวตี้ฟรี ในเมือง” ในนามของ “ล็อตเต้ กรุ๊ป” ในเดือน ก.ค. 2560 โดยมีเม็ดเงินลงทุนหลักหมื่นล้านบาท เป็นของเรียกน้ำย่อย ล่อตาล่อใจ แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัญหาว่ากลุ่มนี้ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ พื้นที่ให้บริการส่งมอบสินค้าปลอดอากร หรือ (Pick Up Counter) ที่สนามบิน เพราะตามสัมปทานพื้นที่ในสนามบินทั้งดอนเมือง ยังติดสัญญาเช่า ซึ่งบริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ เอโอที ได้ทำสัญญาไว้กับกลุ่มคิงเพาเวอร์ โดยสัญญาดังกล่าวกำลังจะหมดอายุในปี 2563

ขณะที่บริษัทจีเอ็มเอส ดิวตี้ฟรี จำกัด (ซึ่งเป็นบริษัทร่วมทุนระหว่างร้านเจมส์แกลอรี่ กลุ่มเดอะมอลล์และชิลล่าจากเกาหลีใต้) ซึ่งได้เปิดให้บริการร้านค้าปลอดอากรที่สนามบินภูเก็ต จึงไม่มีปัญหาเรื่องการส่งมอบสินค้า เพราะมีจุดให้บริการ pick up counter ที่สนามบินภูเก็ต อย่างไรก็ตาม และในอนาคตเมื่อสัญญา pick up counter ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และดอนเมืองสิ้นสุดลงก็มีความเป็นไปได้ที่ ทอท. อาจจะทบทวนการอนุญาตเรื่อง pick up counter ใหม่ ตามสภาวะของตลาดที่เปลี่ยนไป จากปี 2549 ที่มีการเปิดใช้สนามบินสุวรรณภูมิ และปี 2555 ที่เปิดประมูลที่สนามบินดอนเมือง
ขณะที่กลุ่มเซ็นทรัล ผู้นำค้าปลีกในประเทศนั้น แม้จะมีสาขาห้างในประเทศอยู่มากมาย แต่สำหรับดิวตี้ฟรีแล้วกลุ่มนี้ยังไม่มี ดังนั้นจึงต้องพยายามที่จะผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการช้อปปิ้งของนักท่องเที่ยว และหากยิ่งรัฐบาลเปิดดิวตี้ในเมืองเพิ่มก็จะดียิ่งขึ้น
ซึ่งการดำเนินการของกลุ่มนี้ดำเนินการผลักดันโดยผ่านสมาคมค้าปลีกโดยนายวรวุฒิ อุ่นใจ หนึ่งในผู้บริหารเซ็นทรัลพยายามยื่นข้อเสนอให้ภาครัฐเร่งผลักดัน “Shopping Tourism” หรือนโยบายด้านการท่องเที่ยวเชิงชอปปิ้งอย่างจริงจัง เพื่อเป็นกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการเปิดเสรีร้านค้าปลอดภาษี เพิ่มจำนวนร้านค้าปลอดภาษีในเมืองมากขึ้น และผลักดันนโยบาย Duty Free City เพื่อให้ประเทศไทยเป็นชอปปิ้งเดสติเนชันของนักท่องเที่ยวอย่างแท้จริง โดยเสนอเปิดดิวตี้ฟรีซิตี้ใน 10 เมืองท่องเที่ยว ได้แก่ พัทยา ภูเก็ต สมุย หาดใหญ่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ เชียงราย อุบลราชธานี อุดรธานี และนครราชสีมา
เพราะต้องไม่ลืมว่า จากข้อมูลการนำเข้าสินค้าฟุ่มเฟือย 9 หมวดจาก 17 หมวด ตามนิยามของของกรมศุลกากร ในปี 2558 ได้แก่ เสื้อผ้าแฟชั่น เครื่องสำอาง นาฬิกา แว่นตา กระเป๋าหนัง รองเท้าหนัง เครื่องประดับคริสตัล ปากกา น้ำหอม สุราต่างประเทศ ผลไม้ เครื่องแก้วคริสตัล ไวน์ เข็มขัดหนัง ดอกไม้ และกล้องถ่ายรูป มีมูลค่ารวมสูงถึง 132,984.44 ล้านบาท

ประเด็นสำคัญ คือ มูลค่าสินค้านำเข้าที่เสียภาษีนำเข้าตามพิกัดศุลกากร (duty paid) มีมูลค่าเพียง 45,168.60 ล้านบาท ขณะที่มูลค่าสินค้านำเข้าที่ได้รับการยกเว้นภาษีตามกฎหมายศุลกากร (duty free) มีมูลค่าสูงถึง 87,815.83 ล้านบาท มากกว่ามูลค่าสินค้านำเข้า Duty paid เกือบ 80% และข้อมูลการนำเข้า 17 รายการสินค้าฟุ่มเฟือย 5 เดือนแรกปี 2561 (ม.ค.-พ.ค.)
พบว่ามีมูลค่ารวม 40,466.98 ล้านบาท
ดังนั้นจึงไม่แปลกว่า ทำไมในช่วงที่ผ่านมา ได้มีความพยายามของสมาคมร้านค้าปลอดอากรไทย ที่ปัจจุบันมีสมาชิกอยู่เพียง 3 ราย ในจำนวนนี้ มีร้านค้าปลอดอากรหรือดิวตี้ฟรีของเกาหลีใต้ซึ่งได้แก่ลอตเต้และชิลล่ารวมอยู่ด้วย ได้พยายามกดดันทางการไทย ทั้งกระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร และกระทรวงคมนาคม โดย ทอท.ให้นำพื้นที่ที่ได้ให้สัมปทานแก่กลุ่มบริษัทคิง เพาเวอร์ เพื่อบริหารจัดการพื้นที่เชิงพาณิชย์และร้านค้าปลอดอากรไปแล้ว ต้องตัดแบ่งพื้นที่สัมปทานดังกล่าวมาให้ผู้ประกอบกิจการดิวตี้ฟรีจากเกาหลีใต้ เพื่อสร้าง pick up counter ขึ้นในสนามบินสุวรรณภูมิ