ต้องบอกว่าน่าผิดหวัง...กับการประมูลเพื่อออกใบอนุญาต 4 จี บนคลื่นความถี่ 900 และ 1800 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ของคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ที่หมายมั่นปั้นมือจะมีบริษัทสื่อสารแห่เข้ามาประมูลกันคึกคัก ดึงรายได้เข้ารัฐไม่ต่ำกว่า 150,000 ล้านบาท...!! แต่เอาเข้าจริงกลับ “หนังคนละม้วน” คลื่น 1800 MHz ที่ กสทช.นำออกประมูล 3 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 15 เมกะเฮิรตซ์ เมื่อกลางเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา กลับไม่มีบริษัทสื่อสารรายใดแสดงความจำนงเข้าร่วม แม้แต่ค่ายดีแทคที่เป็นเจ้าของคลื่นเดิมก็ยังเมินเข้าร่วมประมูล...แม้กสทช.จะยอมทบทวนเงื่อนไขการประมูลคลื่น 1800 ใหม่ ยอมซอยย่อยใบอนุญาตจากเดิมเป็น 9 ใบอนุญาต ใบอนุญาตละ 5 MHz แต่กระนั้นก็ยังคงมีเพียงบริษัทไวร์เลส เน็ทเวิร์คในเครือเอไอเอสและดีแทคไตรเน็ต 2 รายเท่านั้น ที่แสดงความจำนงเข้าร่วมประมูลและแทบจะเป็นการเข้าประมูลแบบเสียไม่ได้ ขณะที่คลื่น 900 จำนวน 1 ใบอนุญาต ขนาด 5 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) นั้นยังคงไร้บริษัทสื่อสารเสนอตัวเข้าประมูลจน กสทช.ต้องดิ้นพล่านหาแนวทางในอันที่จะจูงใจให้บริษัทสื่อสารเปลี่ยนใจ...หาไม่แล้วคลื่นความถี่ที่ไม่ถูกนำไปใช้จะกลายเป็นความสูญเสียทรัพยากรของประเทศไปโดยสิ้นเชิง!
เรื่องของเรื่องที่ทำให้ผล
งานชิ้นโบแดงของ กสทช.ในอดีตกลายเป็นผลงานสุดอับเฉาไปในเวลานี้ ก็ล้วนเป็นผลพวงมาจาก การดำเนินนโยบาย “ไม้หลักปักเลน” ของ กสทช.เองจากการที่ไปไฟเขียวให้บริษัททีโอที จำกัด (มหาชน) ลงนามในสัญญาพันธมิตรธุรกิจกับดีแทคในการปรับปรุงการใช้งานคลื่น 2300 MHz จำนวน 60 เมกะเฮิรตซ์ ก่อนหน้านี้ ทั้งที่เป็นการดำเนินการที่ไม่เป็นไปตามประกาศกสทช.ว่าด้วยการให้บริการ MVNO และขัดบทบัญญัติมาตรา 46 พ.ร.บ.ประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2544
หลายฝ่ายได้พยายามทักท้วงกสทช.มาตั้งแต่แรกแล้วว่า การที่กสทช. “หักดิบ” มติตนเองยอมไฟเขียวสัญญาพันธมิตรธุรกิจดังกล่าวจะส่งผลต่อการจัดประมูลคลื่นความถี่ 1800 และ 900 MHz ตามมาอย่างแน่นอนเพราะหาก “ดีแทค” ที่กำลังมีปัญหาคลื่นความถี่ในมือจากสัญญาสัมปทานที่มีอยู่กับบริษัทกสท โทรคมนาคมสิ้นสุดลง หากดีแทคสามารถบรรลุข้อตกลงในการทำสัญญาพันธมิตรธุรกิจกับทีโอทีและให้บริการโรมมิ่งคลื่น 2300 ได้ จนทำให้ดีแทค “ปลดล็อก” ปัญหาคลื่นในมือลงไป ก็ไม่มีความจำเป็นจะต้องดิ้นรนเข้าร่วมประมูลคลื่นใหม่ใดๆ อีก
ขณะที่อีก 2 ค่าย
มือถือ “เอไอเอส” และ “ทรูมูฟ”ที่ต่างมีคลื่นความถี่อยู่ในมือ 55 เมกะเฮิรตซ์นั้น ก็ประสบปัญหาที่ต้องแบกภาระจ่ายค่าธรรมเนียมในปี 2563 อีกรายละร่วม 60,000 ล้านบาท หากจะต้องระดมทุนเพื่อประมูลคลื่น 1800 ด้วยอีกรายละไม่ต่ำกว่า 38,000-40,000 ล้าน ....ย่อมเป็นภาระหนักหนาสาหัสเกินไปในการก่อหนี้เพิ่ม... สองค่ายมือถือจึงได้ยื่นเรื่องต่อรัฐบาล คสช.และกสทช.ขอยืดเวลาชำระค่าธรรมเนียมใบอนุญาตของเก่าจากที่ต้องโหมจ่ายทั้งก้อนในปี 2563 ออกไปเพื่อจะได้มีช่องระดมทุนก้อนใหม่เข้าร่วมประมูลได้ แต่เมื่อถูกนักวิชาการและเครือข่ายเอ็นจีโอขวางลำสุดลิ่ม ด้วยมองว่าแต่ละค่ายยังคงมีกำรี้กำไรกันอยู่จึงไม่ควรที่รัฐจะหยิบยื่นให้ความช่วยเหลือ.... บทสรุปสุดท้ายจึงเป็นไปดั่งที่เห็น
ความคาดหวังที่จะจัดประมูลคลื่นความถี่ 900 และ 1800 MHz จำนวน 4 ใบอนุญาตที่คาดจะดึงรายได้เข้ารัฐร่วม 150,000 ล้านบาทนั้น วันนี้เอาแค่จะหาบริษัทสื่อมารับ “เซ็งลี้คลื่น” ออกไปพัฒนาเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ระบบเศรษฐกิจยังไม่รู้จะมีหรือไม่... ก็ไม่รู้ว่าเครือข่ายเอ็นจีโอ และนักวิชาการที่เคยดาหน้าออกมาคัดง้างข้อเสนอของบริษัทสื่อสารที่ขอให้รัฐยืดเวลาชำระค่าธรรมเนียมไปก่อนหน้านี้... วันนี้ยังจะออกมารับผิดชอบจุดยืนตนเองกันอยู่หรือไม่...!!! กสทช.เองจะรู้สึกรู้สาอะไรไหม...ที่วันนี้ทำให้เพชรเม็ดงามในมือกลายเป็นก้อนกรวดก้อนดิน...เพราะวิธีคิดเหมือนไม่ได้คิดของตัวเอง.....
ที่มา : http://www.naewna.com/business/358616