เปิดอย่างเป็นทางการไปแล้ว สดๆ ร้อนๆ เมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2561 ที่ผ่านมา ศูนย์นวัตกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ (iCRAS) ของสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ คณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ พีไอเอ็ม แหล่งรวมเทคโนโลยีหุ่นยนต์ครบที่สุด ล้ำสมัยด้วยหุ่นยนต์รุ่นใหม่ของโลก และชุดจำลองระบบอุตสาหกรรมอัตโนมัติรุ่นใหม่ล่าสุด ชุดแรกในไทย
หลังจากที่เปิดตัวสาขาวิชาวิศวกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ ไปเมื่อปีกว่าๆ ตอนนี้มีห้องแล็บแล้ว งบลงทุนกว่า 50 ล้านบาท เพื่อใช้เป็นสื่อการสอนที่เน้นการเชื่อมโยงภาคอุตสาหกรรมกับโรโบติกส์และดิจิทัลเทคโนโลยี สร้างผู้ที่มีความรู้ทางวิศวกรรมศาสตร์ในการผลิตทั้งด้านฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ สามารถควบคุมระบบอัตโนมัติ ออกแบบวิเคราะห์ระบบการผลิตและเครื่องมือช่วยในการผลิต ชิ้นส่วนเครื่องจักรกลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยภายในศูนย์ได้แบ่งห้องปฏิบัติการออกเป็น 5 ห้อง ดังนี้
•ห้องปฏิบัติการหุ่นยนต์อุตสาหกรรม (Industrial Robotics Laboratory) ห้องปฏิบัติการสำหรับการเรียนรู้ ทดลอง และทดสอบการทำงานระบบหุ่นยนต์ที่ใช้ในงานอุตสาหกรรมยุคใหม่ ประกอบด้วยแขนกลอุตสาหกรรมขนาดต่างๆ ตลอดจนแขนหุ่นยนต์ชนิดใหม่ที่ออกแบบมาเพื่อทำงานร่วมกับมนุษย์ (Cobot) และมือจับ (Gripper) สำหรับการทำงานหลายรูปแบบ จากบริษัทหุ่นยนต์ชั้นนำของโลก
•ห้องปฏิบัติการระบบอัตโนมัติ (Automation Systems Laboratory) ห้องปฏิบัติการกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมด้วยระบบอัตโนมัติ ประกอบไปด้วย ชุดจำลองการทำงานของแขนกลอุตสาหกรรม เซนเซอร์ตรวจจับวัตถุรูปแบบต่างๆ และระบบสายพานลำเลียงระบบ (Festo; Modular Production System) เพื่อสร้างความเข้าใจการผลิตโดยใช้ระบบอัตโนมัติทั้งระบบ
•ห้องปฏิบัติการระบบไซเบอร์ฟิสิกส์ (Cyber Physical Systems Laboratory) ห้องปฏิบัติการสำหรับระบบไซเบอร์กายภาพ นำไปสู่การปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4 (Industry 4.0) ผสานความสามารถของเทคโนโลยีสารสนเทศเข้ากับเทคโนโลยีด้านการผลิต เพื่อสร้างโรงงานอัจฉริยะและเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเวลาและต้นทุนการผลิต
•พื้นที่สร้างสรรค์งานนวัตกรรม (Co-Creation Space)
พื้นที่สำหรับรองรับไลฟ์สไตล์การทำงานของคนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ทอัพ มีอุปกรณ์และเครื่องใช้ที่จำเป็นสำหรับการพัฒนางานนวัตกรรมอย่างครบครัน ภายใต้บรรยากาศในการทำงานที่เอื้อต่อการผลักดันความคิดริเริ่มใหม่ๆ
•ห้องปฏิบัติการเครื่องสร้างต้นแบบและซีเอ็นซี (Rapid Prototyping and CNC Laboratory) ห้องปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ช่วยในการออกแบบงานอุตสาหกรรม ประกอบไปด้วยเครื่องแกะสลักด้วยคอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ (CNC) เครื่องตัดชิ้นส่วนด้วยเลเซอร์ และเครื่องพิมพ์ 3 มิติ เพื่อการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบที่มีประสิทธิภาพสูง
การนำหุ่นยนต์มาใช้ในภาคอุตสาหกรรมมีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือมนุษย์ในการทำงาน เช่น
Dirty job งานยากลำบาก ไม่สะอาด สัมผัสของที่มีพิษ มีเชื้อโรค ช่วยป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพมนุษย์
Difficult job งานในจุดที่ยากต่อการเข้าถึง มีความแม่นยำในการทำงาน งานที่มีความละเอียดสูง
Dangerous job งานอันตราย เช่น การจับโลหะร้อน สัมผัสรังสีสารเคมีที่อาจส่งผลถึงชีวิต ซึ่งหุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยลดภาระและความเสี่ยง ใช้งานได้ในหลากหลายสภาพแวดล้อม สภาพอากาศแปรปรวน ลดการเสี่ยงภัยและอุบัติเหตุ ที่จะเกิดขึ้นในการทำงานนั้นๆ