
นายแพทย์โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยว่า กระทรวงสาธารณสุข ได้เฝ้าระวังความปลอดภัยด้านอาหาร และให้ความรู้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้อาหารปลอดภัยจากสารอันตรายปนเปื้อน อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีสภาพอากาศที่ร้อนชื้น อาจทำให้อาหารและวัตถุดิบหลายชนิดขึ้นรา ซึ่งได้แก่ เชื้อราแอสเพอร์จิลัส ฟลาวัส และแอสเพอร์จิลัส พาราซิติคัส ที่มีสีเขียวหรือสีเขียวแกมเหลือง จะสร้างสารอะฟลาทอกซิน ซึ่งเป็นสารก่อมะเร็งในตับชนิดร้ายแรง
ตามประกาศองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) และองค์การอนามัยโลก (WHO) กำหนดให้มีการควบคุมระดับการปนเปื้อนในอาหารเมื่อปี 2540 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกประกาศกำหนดให้สารนี้ ปนเปื้อนอาหารได้ไม่เกิน 20 ไมโครกรัมต่อกิโลกรัมอาหาร เพื่อคุ้มครองผู้บริโภคในประเทศไทยเช่นเดียวกัน
นายแพทย์โสภณกล่าวต่อว่า สารอะฟลาทอกซิน พบได้ในอาหาร และผลิตผลทางการเกษตร เช่น อาหารจำพวกแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง ข้าว ข้าวโพด ถั่วลิสง กระเทียม พริกแห้ง พริกป่น กุ้งแห้ง สมุนไพร เป็นต้น ที่อันตรายคือ สารพิษชนิดนี้ทนความร้อนได้ถึง 260 องศาเซลเซียส ทำให้การปรุงอาหารไม่สามารถทำลายพิษได้ ดังนั้น การนำถั่วลิสง หรืออาหารแห้งไปตากแดด ก่อนที่จะนำมาเก็บรักษา หรือลดความชื้นด้วยการอบแห้ง และยังช่วยลดความชื้น ทำให้เชื้อราไม่สามารถเจริญเติบโตได้ ส่งผลให้อัลฟลาทอกซินที่ถูกสร้างจากเชื้อราลดลงไปด้วย
สำหรับอุปกรณ์เครื่องครัว โดยเฉพาะเขียงอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคต่างๆ ได้ การใช้เขียงเพื่อเตรียมปรุงอาหาร ควรแยกใช้เขียงสำหรับเนื้อสัตว์สด ผักสด และอาหารปรุงสุก ไม่นำเขียงหั่นอาหารสด มาใช้หั่นอาหารสุก และต้องทำความสะอาดเขียงทุกครั้งภายหลังการใช้ โดยกวาดเศษอาหารออกจากหน้าเขียงให้หมด แล้วใช้น้ำยาล้างจานล้างคราบไขมันที่เกาะออก และล้างน้ำหลายๆครั้ง และผึ่งแดดให้แห้ง ส่วนเขียงที่ใช้หั่นเนื้อสัตว์สด ควรขูดเศษเนื้อสัตว์ และไขมันออกจากหน้าเขียง ล้างเขียงโดยใช้น้ำร้อนราดให้ทั่วเขียง เพื่อขจัดคราบไขมัน หรือใช้น้ำสะอาดผสมน้ำยาล้างจาน และถูด้วยแปรงจนสะอาด ล้างน้ำซ้ำ เพื่อป้องกันสารตกค้าง และผึ่งแดดให้แห้ง ควรเก็บเขียงไว้ในที่สะอาด อากาศโปร่ง และผึ่งแดดสม่ำเสมอ เพื่อป้องกันเชื้อรา
ที่มา: http://www.newsconnect.co.th/newsdetail.php?typenews=3&idnews=9504