
ขณะที่ สุรพศ ทวีศักดิ์ อาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต ศูนย์การศึกษาหัวหิน มองว่า ประการหนึ่งที่
หวยหรือ
ลอตเตอรี่ดูเป็นความผิดที่เบาบางมากกว่าการเล่นไพ่หรือการพนันในลักษณะอื่น ก็เพราะเป็นเรื่องถูกกฎหมายด้วยส่วนหนึ่ง เพราะนอกเหนือจากตัวลอตเตอรี่จะถูกกฎหมายเองแล้ว ในแง่กฎหมายเองก็ไม่มีกฎข้อใดห้ามพระซื้อลอตเตอรี่ แต่ในแง่วินัยสงฆ์นั้นก็ชัดเจนว่า พระสงฆ์นั้นก็สอนประชาชนให้ลด ละ เลิกอบายมุข หรือบอกกล่าวว่าการพนันเป็นสิ่งไม่ดี
และการที่ห้ามคนอื่นแต่ตัวเองก็ทำนั้น คงไม่ใช่คำถามที่ยากเกินไปนักที่จะตอบว่าถูกควรหรือไม่
"อย่างหวย อย่างลอตเตอรี่ถูกกฎหมาย ก็อาจจะมองว่าไม่ผิด-ไม่ผิดในแง่กฎหมาย แต่ในแง่ศีลธรรมที่พระชอบสอน ก็จะมองในลักษณะที่ว่าเป็นการพนันอย่างหนึ่ง คืออันนี้กำลังมองว่าในจารีตของพระไทยมักสอนอย่างนั้น ว่าหวยไม่ดี เป็นการพนัน เป็นอบายมุข แต่ในความเป็นจริง โลกสมัยใหม่อาจไม่มองอย่างนั้นก็ได้ มองว่าเป็นการเสี่ยงโชคอะไรว่าไป ซึ่งเป็นเรื่องทางโลก"
แต่พระสงฆ์มองเป็นเรื่องการพนัน แต่ตัวเองกลับมาทำ มันก็ขัดกับสิ่งที่สอนคนอื่น?
"ในพระไตรปิฎกไม่ได้มีบัญญัติเรื่องหวยอยู่แล้ว แต่ไม่ได้หมายความว่าอะไรที่ไม่บัญญัติแล้วพระทำได้ทั้งหมด ไม่ได้ว่าทุกอย่างต้องไปหาคำตอบในพระไตรปิฎกทั้งหมดว่าบัญญัติยังไง โลกเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน พระก็ต้องดูว่าทำอะไรลงไปแล้วสังคมยุคปัจจุบันรับได้หรือเปล่า"
สุรพศยังเห็นประเด็นการดำเนินชีวิตของพระสงฆ์ที่มุ่งลด ละ เลิกกิเลส ตามอุดมคติของศาสนาด้วย
"ทางด้านจิตใจมันควรสงบ แล้วถ้ามาฝักใฝ่เสี่ยงโชคเล่นหวยก็แยกไม่ออกว่าพระกับชาวบ้านต่างกันตรงไหน ปัญหาคือพระทำเหมือนฆราวาสได้หมด แล้วจุดแตกต่างอยู่ไหน ความแตกต่างที่ผมพูดถึงนั้นหายากขึ้นทุกทีในปัจจุบัน"
ทว่า ข้อสังเกตอย่างหนึ่งที่นำมาสู่การถกเถียงในประเด็นอื่น นั่นคือเอาเข้าจริงแล้ว ภาพพระซื้อลอตเตอรี่หรือซื้อหวยนั้นเป็นเรื่องที่ชินหูชินตาชาวบ้าน โดยเฉพาะในแถบต่างจังหวัด การที่พระจะซื้อหวยจึงไม่ใช่เรื่องน่าตกอกตกใจหรือเป็นเรื่องที่ต้องนำมาใคร่ครวญในสังคมนั้นๆ มากนัก แม้ชาวบ้านเองจะผูกพันกับพระ กับวัดอย่างยิ่งก็ตาม ขณะที่กลุ่มคนเมือง ซึ่งมีแนวโน้มจะห่างจากวัดมากกว่าด้วยซ้ำ กลับเห็นเรื่องพระซื้อหวยเป็นปัญหา
"อันนี้อย่างที่พูดว่าในแง่กฎหมาย การซื้อหวยมันไม่ผิด แต่ในแง่จริยธรรมก็เป็นเรื่องความเหมาะสมของพระ โดยส่วนตัวผมไม่ได้ตัดสินว่าพระผิดหรือถูก สมมุติพระทำอย่างนั้น ชาวบ้านไม่ว่าอะไร ก็เรื่องของเขา เป็นเสรีภาพของเขา แต่ผมจะบอกว่าในจารีตของพระไทยที่เป็นจารีตหลักๆ ก็เหมือนพระกำลังทำผิดจารีตของตัวเอง แต่ระดับชาวบ้านอีกเรื่องหนึ่ง ถ้าเขารับได้ก็ไม่มีปัญหา เป็นเรื่องที่สงฆ์ในวัดนั้นหรือชุมชนชาวบ้านนั้นเขาจะพิจารณาตัดสินกันเอง ถ้าชาวบ้านรับไม่ได้ก็มีสิทธิวิพากษ์วิจารณ์อยู่แล้ว"
อีกคนที่ร่วมแสดงความคิดเห็นปิดท้าย
ชาญณรงค์ บุญหนุน อาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ให้ความเห็นอย่างหนักแน่นและชัดเจนว่า พระสงฆ์ถึงอย่างไรก็ไม่ควรซื้อลอตเตอรี่
"อะไรที่เกี่ยวกับเงินไม่ควรอยู่แล้ว เพราะเป็นเรื่องของการซื้อขายด้วยเงินด้วยทอง มันเป็นอาบัติเล็กน้อย คือเขาอาจจะเป็นพระชาวบ้านธรรมดา เล่นหวยเป็นปกติ แต่คนรุ่นใหม่อาจซีเรียส ซึ่งถ้าไปอยู่ตามหมู่บ้านต่างๆ ชาวบ้านก็ไม่ถือสาหาความอะไร เขาไม่ซีเรียสว่าพระต้องเคร่งทุกกระเบียดนิ้ว เพราะมันปลงอาบัติในแง่เล็กๆ น้อยๆ ได้ ถ้าพระให้หวยเขาก็ชอบพระไปด้วย เขาเลยไม่ถือถ้าพระจะซื้อหวย"
ทั้งหมดนี้ ชาญณรงค์มองเป็นวัฒนธรรมมากกว่า
"อันนี้อาจจะมีผลน่าสนใจตรงที่คนอาจจะมองว่าไม่เหมาะเพราะพระซื้อเยอะ ถ้าแบบซื้อเพื่อหวังรวย ถ้าลักษณะนี้ก็ซื้อขายด้วยเงินด้วยทอง มันผิดวินัยอยู่แล้ว และการพนันมันเป็นอาบัติเล็กน้อย คือชาวบ้านอาจจะมองว่ามันไม่เหมาะ แต่ตัวอาบัติเองมันไม่มาก แต่ทางพระอาจจะมองว่าไม่เหมาะ"
แน่นอนว่าการที่พระถูกลอตเตอรี่นั้นสร้างแรงกระเพื่อมและคำถามบางประการในสังคม นำมาสู่ประเด็นหนึ่งที่ชาญณรงค์ตั้งข้อสังเกต
"คนเมืองศึกษาธรรมะลักษณะที่ให้ความสำคัญกับความบริสุทธิ์ผุดผ่อง สะอาด สว่าง สงบ แล้วโดยทั่วไปคนเมืองค่อนข้างอุดมคติกับศาสนาพอสมควร เวลามองพระก็มองพระในระดับอุดมคติ แต่อย่างชาวบ้านที่เข้าวัดเป็นประจำก็ไม่ค่อยมองอย่างอุดมคติหรอก มองพระเป็นเหมือนปุถุชน ผิดก็อนุโลมได้ ทีนี้ การศึกษามันหล่อหลอมเราในเรื่องวิธีคิด เป็นเหมือนความกล่อมเกลาทางการศึกษาระยะหลังๆ ที่เน้นความเป็นอุดมคติ ให้ปฏิบัติสอดคล้องกับศาสนา"
"แต่วัฒนธรรมเดิมของเราไม่ซีเรียสขนาดนั้น การศึกษาของเราเดิมมากับจารีต ไม่ได้อิงกับพระไตรปิฎก แต่การศึกษาสมัยใหม่ทำให้คนอ่านพระไตรปิฎกและศึกษาธรรมะมากขึ้น แง่หนึ่งคนจึงคาดหวังว่าพระจะดำรงความเป็นอุดมคติของศาสนาได้มากขึ้น"
เป็นคำตอบจากมุมมองของอาจารย์จากคณะอักษรศาสตร์ต่อกรณีพระถูกลอตเตอรี่ตามที่เป็นข่าวมากน้อย ความคิดเห็นเหล่านี้ก็ย่อมตอบคำถามที่มีในสังคมได้
ว่าในฐานะบรรพชิตซึ่งเดินเข้าสู่ทางธรรมแล้ว เหมาะสมหรือไม่ อย่างไร กับการที่นำตัวเองเข้าไปเกี่ยวกับอบายมุข
แม้เพียงเล็กน้อยก็ตาม