ฮัมบูร์กและคีล, เยอรมนี--11 พ.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
องค์กรไม่แสวงผลกำไร maribus และกลุ่มวิจัย Kiel Cluster of Excellence "The Future Ocean" ได้เน้นย้ำในประเด็นที่เกี่ยวกับมหาสมุทรและความยั่งยืนในรายงาน World Ocean Review ฉบับที่ 4 เพื่อสร้างความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีความยั่งยืนกับการวิจัยเพื่อนำไปสู่การจัดการมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลอย่างมีความรับผิดชอบ
มนุษย์เรามีความใกล้ชิดกับท้องทะเลมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล เพราะทะเลมอบโอกาสและประโยชน์มากมายให้แก่ผู้ที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่ง อย่างไรก็ดี เมื่อประชากรโลกเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว เราจำเป็นต้องคำนึงถึงอนาคตของมหาสมุทรและชายฝั่งอย่างจริงจัง แรงกดดันที่มีต่อมหาสมุทรทวีความรุนแรงขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะจากการใช้งานของมนุษย์ ในขณะที่ทรัพยากรทางทะเลมีอยู่อย่างจำกัด จึงเกิดคำถามขึ้นมาว่า เราจะสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรได้อย่างไร เราควรใช้หลักเกณฑ์ใดในการประเมินศักยภาพการพัฒนาเพื่อนำไปสู่การใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เราต้องดำเนินการอย่างไรเพื่อรับประกันว่าจะมีการใช้ทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน เราควรตกลงเรื่องการชดเชยระหว่างผู้ได้ประโยชน์และผู้เสียประโยชน์อย่างไร และ "ความยั่งยืน" ซึ่งเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แท้จริงแล้วมีความหมายว่าอะไรในส่วนที่เกี่ยวข้องกับมหาสมุทรและชายฝั่ง
(รูปภาพ: http://photos.prnewswire.com/prnh/20151109/285435 )
รายงาน "World Ocean Review 4 - Sustainable Use of Our Oceans - Making Ideas Work" (WOR 4) ซึ่งเผยแพร่โดยองค์กรไม่แสวงผลกำไร maribus gGmbH โดยได้รับการสนับสนุนจากนิตยสาร mare, สถาบัน International Ocean Institute (IOI) และกลุ่ม Kiel Cluster of Excellence "The Future Ocean" ได้รวบรวมมุมมองจากทั่วโลกในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับความยั่งยืนและมหาสมุทร "ความยั่งยืน" ได้กลายเป็นคำที่ใช้กันอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน และมีความหมายแตกต่างกันไปตามนิยามหรือบริบท ทางคณะผู้จัดทำรายงานจาก Kiel Cluster of Excellence "The Future Ocean" จึงได้สร้างความเชื่อมโยงระหว่างทฤษฎีความยั่งยืนกับการวิจัยเพื่อนำไปสู่การจัดการมหาสมุทรและทรัพยากรทางทะเลอย่างมีความรับผิดชอบ พร้อมทั้งนำเสนอแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ที่หนักแน่นในรูปแบบที่ชัดเจนและเข้าใจง่ายสำหรับผู้อ่านทั่วไป ตลอดจนอธิบายแนวทางที่กลุ่มประชาสังคมและผู้วางนโยบายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญได้
"จุดมุ่งหมายของเราในการเผยแพร่รายงาน World Ocean Review คือการมอบความรู้พื้นฐานให้แก่ประชาชนทั่วไป เพื่อให้มีความเข้าใจมากขึ้นในเรื่องของความยั่งยืน ด้วยการนำเสนอข้อมูลที่ครบถ้วนเกี่ยวกับคุณค่ามากมายของมหาสมุทร" Professor Martin Visbeck โฆษกของ Kiel Cluster of Excellence "The Future Ocean" และนักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจาก GEOMAR Helmholtz Centre for Ocean Research Kiel กล่าว "ความก้าวหน้าในการใช้มหาสมุทรอย่างยั่งยืนจะเกิดขึ้นได้เมื่อทุกฝ่ายร่วมมือกัน ดังนั้น การพัฒนาอย่างยั่งยืนทั่วโลกจึงจำเป็นต้องมีการประสานการใช้งานหลากหลายรูปแบบ เข้ากับการปกป้องสภาพแวดล้อมทางทะเลอย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น โดยเฉพาะในระดับระหว่างประเทศ"
รายงาน World Ocean Review ยังนำเสนอมุมมองอย่างละเอียดเกี่ยวกับคุณค่าทางระบบนิเวศที่มหาสมุทรมอบให้มนุษย์ เช่น การผลิตออกซิเจน อาหาร พลังงานคลื่นและลม รวมถึงเส้นทางการคมนาคมทางทะเล นอกจากนั้นยังพิจารณาบทบาทของมหาสมุทรในฐานะแหล่งทรัพยากรที่ไม่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ เช่น น้ำมัน ก๊าซ และสิ่งที่ทับถมในทะเล (เช่น กรวดและทราย เป็นต้น) รวมถึงอธิบายว่าป่าชายเลนและสันทรายสามารถปกป้องแนวชายฝั่งได้อย่างไร ปัจจุบัน มหาสมุทรกำลังถูกคุกคามจากการใช้ประโยชน์มากเกินไป จากมลภาวะ และจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกเหนือจากการแจกแจงสาเหตุของปัญหาแล้ว รายงานฉบับนี้ยังระบุขอบเขตของปัญหา และเผยให้เห็นถึงความพยายามในการนำวิทยาศาสตร์หลากหลายสาขามาใช้พัฒนารูปแบบและสมมติฐานต่างๆ เพื่อแปรเปลี่ยนทฤษฎีความยั่งยืนให้กลายเป็นกลยุทธ์ทางเศรษฐกิจ การเมือง และสังคม ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ได้จริง
"การอนุรักษ์ท้องทะเลจะมีประสิทธิภาพสูงสุดเมื่อประชาชนลงมือทำจริงๆ และภาคประชาชนที่มีความรู้ความเข้าใจเป็นอย่างดีเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมทางทะเลสามารถกดดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงนโยบายได้" Nikolaus Gelpke กรรมการผู้จัดการของ maribus gGmbH ผู้จัดพิมพ์นิตยสาร mare และประธานสถาบัน IOI กล่าว "อย่างไรก็ดี การให้การสนับสนุนยังเป็นสิ่งที่จำเป็นเสมอ เพื่อให้ประชาชนสามารถร่วมรับผิดชอบในการจัดการสภาพแวดล้อมอย่างยั่งยืนได้ การสร้างขีดความสามารถเช่นนี้มีความจำเป็นในระดับสูงสุด และได้รับการบรรจุอยู่ในวาระใหม่ด้านความยั่งยืนทั่วโลกขององค์การสหประชาชาติ"
รายงาน "World Ocean Review 4" ได้รับการเปิดเผยในงาน Representation of Schleswig-Holstein ที่กรุงเบอร์ลิน ในวันที่ 10 พฤศจิกายน 2558 ที่มีผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง นักธุรกิจ นักวิทยาศาสตร์ สื่อมวลชน และนักการศึกษาเข้าร่วมงานอย่างคับคั่ง
ภูมิหลัง
maribus gGmbH ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2551 โดย Nikolaus Gelpke เจ้าของนิตยสาร mare เป็นองค์กรไม่แสวงผลกำไรที่มุ่งมั่นกับการทำให้ประชาชนตระหนักว่า ส่วนต่างๆของระบบนิเวศทางทะเลมีความสัมพันธ์กันทั้งหมด พร้อมกับพยายามผลักดันให้มีการอนุรักษ์ทะเลอย่างมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม "World Ocean Review 1" หรือ WOR 1 เป็นรายงานฉบับแรกของ maribus ที่แสดงข้อมูลอย่างครอบคลุม ละเอียด และเด่นชัด เกี่ยวกับสถานการณ์ของทะเลทั่วโลก รวมถึงความสัมพันธ์ระหว่างทะเลกับระบบนิเวศทั้งในแง่ของเศรษฐกิจและสังคมการเมือง จนถึงตอนนี้มีผู้ขอรับสำเนารายงาน WOR 1 ฉบับภาษาเยอรมันและอังกฤษไปแล้วราว 70,000 ฉบับทั่วโลก ส่วนรายงานฉบับต่อมาคือ "World Ocean Review 2 - The Future of Fish - The Fisheries of the Future" และ "World Ocean Review 3 - Marine Resources - Opportunities and Risks" ได้มีการวิเคราะห์เนื้อหาหลักอย่างละเอียดมากขึ้น
ที่มา: maribus gGmbH