“หากชาวอเมริกันและยูโรปกำลังกินปลาพวกนี้อยู่ พวกเขาควรนึกถึงพวกเรา และใต้มหาสมุทรที่เต็มไปด้วยภูเขาจากโครงกระดูก กระดูกของแรงงานที่อาจมีมหาศาลจนน่าจะเป็นเกาะแห่งหนึ่งได้ มันมีมากขนาดนั้น” แรงงานคนหนึ่งกล่าว
เมื่อต้นปีที่ผ่านมาสำนักข่าวชื่อดัง เอพี และ นิวยอร์ก ไทมส์ ได้เผยแพร่เรื่องราวการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมในอุตสาหกรรมประมง ซึ่งกลายเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก โดยอุตสาหกรรมที่มีความเชื่อมโยงกับตัวแทนจัดจำหน่ายดังที่ข่าวรายงาน คือ ไทยยูเนี่ยน เจ้าของแบรนด์ซีเล็ค ทูน่า รวมถึงแบรนด์ชื่อดังทั่วโลก อาทิ Petit Navire, John West, Chicken of the Sea, Century Tuna, และ Mareblu น่าตกใจที่อุตสาหกรรมอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของโลกจากประเทศไทยของเราเคยเกี่ยวข้องและยังคงเพิกเฉยกับการกระทำอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน และการใช้เครื่องมือประมงแบบทำลายล้าง

ขอบคุณภาพจาก นิวยอร์ค ไทม์
จากรายงานข่าวของเอพี ระบุถึงสภาพการทำงานและการถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมบนเรือประมงในทะเลจีนใต้ โดยปลาที่จับมาได้นั้นจะส่งไปที่บริษัทแปรรูปอาหารทะเลและบรรจุกระป๋องชื่อ Songkla Canning Public Company ซึ่งเป็นบริษัทในเครือของไทยยูเนี่ยน และอีกรายงานหนึ่งของเอพีเผยว่า หลังจากที่เอพีติดตามรถขนส่งปลาจากเรือประมงที่ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม พบว่ารถนั้นขนส่งให้กับบริษัท Niwat Co., ซึ่งเป็นอีกหนึ่งบริษัทที่จัดจำหน่ายให้กับไทยยูเนี่ยนอีกเช่นกัน
เรื่องราวที่ข่าวนำเสนอเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชน และเป็นการตั้งคำถามให้สังคมตระหนักว่าอาหารทะเลที่เรากินนั้น มาจากการทำประมงที่ใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรมหรือไม่ การกระทำรุนแรงต่อแรงงานนั้น ตามรายงานข่าวระบุว่า แรงงานบนเรือประมงถูกเตะ ทุบตี เฆี่ยนด้วยหางกระเบน และโยนศพทิ้งลงมหาสมุทรให้กับฝูงฉลาม หรือเก็บศพไว้รวมกับคอนเทรนเนอร์ขนปลา โดยจากการสัมภาษณ์ขององค์กรสหประชาชาติ เมื่อปี 2552 เผยว่า ผลการสอบถามแรงงานชาวประมงจากกัมพูชาที่ถูกค้าแรงงานบนเรือประมงสัญชาติไทย 29 คน จาก 50 คน กล่าวว่าพวกเขาเคยพบเห็นกัปตันเรือหรือเจ้าหน้าที่คนอื่นฆ่าคนงานบนเรือประมง
ความเป็นอยู่อันโหดร้ายของแรงงานบนเรือประมง
สิ่งที่เอพี และนิวยอร์ก ไทมส์ ได้รับรู้เรื่องราวจากแรงงานประมงที่ทำการประมงในทะเลจีนใต้ ส่วนใหญ่แล้วเรื่องราวของแรงงานบนเรือประมงเชิงอุตสาหกรรมจากในน่านน้ำมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย จากการสัมภาษณ์มีที่มาที่คล้ายคลึงกัน คือ ไม่ได้พูดภาษาเดียวกันกับกัปตันเรือ ว่ายน้ำไม่เป็น และไม่เคยเห็นทะเลมาก่อน โดยจุดเริ่มต้นมักมาจากการถูกนายหน้าหลอกให้มาทำงาน ด้วยความหวังว่าเป็นงานที่ดีให้ผลตอบแทนสูง และหวังว่าจะมีชีวิตที่ดีกว่าในดินแดนที่ไกลออกไป
อาหารบนเรือใน 1 มื้อ ประกอบด้วยข้าว 1 ชาม ผสมกับปลาหมึกต้ม หรือปลาที่ถูกโยนทิ้ง ให้ดื่มน้ำที่ไม่สะอาด ห้องครัวหรือที่ต่างๆ ก็เต็มไปด้วยแมลงสาบ ห้องน้ำก็เป็นเพียงไม้กระดานที่เคลื่อนออกได้ ยามค่ำคืนสัตว์และแมลงก็มาตอมกินชามข้าวที่ไม่ได้ล้าง ถูกบังคับให้ทำงานกะละ 20-22 ชม./วัน โดยไม่มีวันหยุด บ้างก็ถูกเตะ ทุบตี หรือเฆี่ยนตีด้วยหางปลากระเบนที่มีพิษ หากบ่นหรือพยายามพักผ่อน สถานที่นอนของแรงงานนั้นก็เป็นเพียงที่ร้อนๆ อยู่กันแออัด ไม่มีอากาศถ่ายเทเพียงพอ มีเวลานอนเพียง 2 ชม. และมีเสียงเครื่องยนต์ของเรือดังสนั่นจนพื้นสั่นไหว บ่อยครั้งเครื่องยนต์ก็ปล่อยควันพิษออกมาในบริเวณสำหรับนอน

ปัญหาการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงานเกิดขึ้นควบคู่กับการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม (IUU) โดยเรือประมงที่ไม่สนใจต่อปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนนั้นก็ไม่ได้ใส่ใจว่าการประมงที่ทำอยู่นั้นส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศอย่างร้ายแรง หรือละเมิดกฏหมายใดบ้างของการประมง หนึ่งในวิธีการหลบซ่อนการประมงที่ผิดกฏหมายของตน และยืดเวลาที่เรือประมงจะอยู่ในน่านน้ำได้ คือการส่งสินค้าจากประเทศ A ผ่านพรมแดนประเทศ B ไปยังประเทศ C โดยมีการขนถ่ายสินค้าในประเทศ B ในเขตปลอดภาษี หรือถ่ายลำไปยังพาหนะลำเลียงอื่น แต่ไม่ผ่านพิธีการศุลกากรของประเทศ เช่น ปัญหาที่เกิดขึ้นในทะเลเขตน่านน้ำอินโดนีเซีย โดยเรือประมงเถื่อนของไทย หรือเรือจดทะเบียนถูกต้อง จะขนถ่ายสินค้าลงเรือแม่ที่จอดรอการขนถ่ายปลากลางทะเลจากเรือประมง หลังจากนั้นจะนำปลาทูน่ามาแปรรูป และขนส่งไปยังท่าเรือของบริษัทแปรรูป โดยปลาเหล่านั้น ไม่ถูกจดบันทึกและรายงานไปยังเจ้าของน่านน้ำ เพื่อหลีกเลี่ยงการเสียค่าธรรมเนียมการจับให้กับประเทศเจ้าของน่านน้ำ ก่อให้เกิดปัญหาอื่นๆ ตามมา เช่น การจับปลาที่ไม่ใช่ปลาเป้าหมายขึ้นมา ซึ่งเป็นปลาที่มีขนาดเล็ก และปลาที่ใกล้สูญพันธุ์อย่าง ฉลาม เต่าทะเล และอื่นๆ วิธีนี้ เรียกว่า Transshipment การเปลี่ยนถ่ายสินค้าและน้ำมันกลางทะเลนี่เองที่เอื้อให้เกิดปัญหาการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมต่อแรงงาน เนื่องจากแรงงานจะถูกบังคับให้อยู่กลางทะเลนานขึ้น ซึ่งบางครั้งอาจนานเกินหนึ่งปี
ไทยยูเนี่ยนได้แถลงการณ์ตอบโต้ในประเด็นข่าวฉาวนี้ว่า “เราจำเป็นต้องยอมรับว่าเป็นเรื่องยากที่จะรับรองได้ว่าอุตสาหกรรมอาหารทะเลของไทยนั้นปลอดจากการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม 100% ตลอดห่วงโซ่อุปทาน” และได้กล่าวกับสำนักข่าวนิวยอร์ก ไทมส์ว่า “เราจะไม่ยอมให้มีการใช้แรงงานอย่างไม่เป็นธรรม หรือการละเมิดสิทธินุษยชนในรูปแบบใดๆ” แต่อย่างไรก็ตาม นิวยอร์ก ไทมส์เผยเพิ่มเติมว่า ไทยยูเนี่ยนได้ปฏิเสธที่จะตอบคำถามเกี่ยวกับการตรวจสอบบนเรือประมงที่จัดหาวัตถุดิบให้กับไทยยูเนี่ยน
"หากไทยยูเนี่ยนมีความตั้งใจต่อการแก้ปัญหานี้อย่างจริงจัง จะนำไปสู่การขจัดการใช้แรงงานทาสและการละเมิดสิทธิมนุษยชนหมดไปจากห่วงโซ่อุปทานทั้งหมด มิใช่แต่เพียงการยกเลิกผู้จัดหาวัตถุดิบเพียงรายเดียว การรับรองว่าผลิตภัณฑ์อาหารทะเลที่ผลิตจากการใช้แรงงานทาสที่น้อยลงนั้นเป็นสิ่งที่ผู้บริโภคไม่อาจยอมรับได้ ไทยยูเนี่ยนจะต้องเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมอาหารทะเลอย่างแท้จริงโดยมีมาตรการการตรวจสอบย้อนกลับในผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่เรือต้นทางที่จัดหาวัตถุดิบไปถึงการวางจำหน่าย นอกจากนี้ ควรที่จะมีการตรวจสอบจากบุคคลภายนอกและการขึ้นตรวจเรือโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าอย่างสม่ำเสมอ บริษัทควรเดินหน้าเพื่อให้แน่ใจว่าแหล่งที่มาของวัตถุดิบนั้นมาจากแหล่งที่ถูกต้องตามกฎหมาย มีความยั่งยืนและมีความรับผิดชอบต่อสังคม ผลิตภัณฑ์ทูน่าที่จัดจำหน่ายโดยไทยยูเนี่ยนจะต้องไม่มีแหล่งที่มาจากเรือลำอื่น หรือการขนถ่ายในทะเลซึ่งเป็นวิธีที่เป็นที่รู้จักกันดีว่าเป็นการหลีกเลี่ยงการผิดกฎหมายและป้องกันการตรวจสอบย้อนกลับที่จำเป็นในการขจัดแรงงานทาสจากห่วงโซ่อุปทานของอาหารทะเล" นายธารา บัวคำศรี ผู้อำนวยการประจำประเทศไทย กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าว