เรื่องราวจาก “Angel shop ทุกอย่าง 20”
ในวันนี้เราจะยกตัวอย่างเป็นการที่จะเปิดกิจการ “ทุกอย่าง 20 บาท” เพราะเราเคยทำธุรกิจนี้มาก่อน เรามาเริ่มรู้กันเลยว่าตั้งแต่เริ่มแรกก่อนเปิดกิจการ ตลอดจนวิธีการทำสต็อคเป็นอย่างไรบ้าง?
อ่านแบบมีภาพประกอบ
ต้นทุน
ในเรื่องต้นทุนนั้น คุณต้องดูก่อนว่า สถานที่คุณจะเปิดร้าน มีขนาดใหญ่เท่าไร เพราะในการที่จะเปิดร้านทุกอย่าง 20 บาทนั้น ต้องลงสินค้าให้แน่นร้าน เพราะถ้าลงน้อยสินค้าภายในร้านจะดูโล่ง ไม่น่าเข้า จากรูปตัวอย่างคือตึกแถวที่ผู้เขียนได้เริ่มไปทำการเช่าไว้ ซึ่งถ้าเราไม่มีที่เป็นของตัวเอง สถานที่ขายคือต้นทุนอันแรกของเรา เพราะตั้งจ่ายตั้งแต่ค่ามัดจำตึก ซึ่งเป็นจำนวนเงินก้อน ในตอนนั้นผู้เขียนเช่าทั้งตึกเดือนล่ะ 15,000 บาท จ่ายค่ามัดจำไปทั้งหมด 45,000 บาท จากนั้นก็ยังมีค่าตกแต่งร้านอีกเล็กๆน้อยๆ และค่าชั้นวางสินค้า
เบ็ดเสร็จรวมแล้วคราวๆอีก20,000 – 35,000 บาท เนื่องจากผู้เขียนต้องลงชั้นวางสินค้าเยอะ เพราะตึกแถวที่ผู้เขียนไปทำการเช่า มีขนาดที่ลึกมากหน่อย แล้วไม่ได้กั้นให้แคบลง
ต้นทุนอีกส่วนหนึ่งที่ลืมไปไม่ได้เลยก็คือ ตัวสินค้าที่จะนำมาขาย และในธุรกิจทุกอย่าง 20 บาทนั้น ต้องทำการลงสินค้าให้เต็มร้านมากที่สุด ถึงจะดึงดูดลูกค้าได้ ในเริ่มแรกนั้นผู้เขียนได้ทำการลงสินค้าไปโดยประมาณ เกือบๆหนึ่งแสนบาท ถึงจะเต็มร้าน
สต็อคสินค้า
ในเรื่องสต็อคสินค้าของธุรกิจ 20 บาทนั้น โดยส่วนใหญ่แล้วสินค้าที่จะต้องสต็อค แล้วขายดีตลอดมีแค่เพียงไม่กี่อย่างหรอก ที่คุณต้องมีติด ร้านไว้หลังร้านเสมอ ตัวอย่างเช่น
– ปืนยิงจุดเตาแก๊ส อันนี้ก็เหมือนกัน ลูกค้าจะมาถามหาบ่อยมาก ยิ่งถ้าบริเวณที่คุณขาย มีร้านขายอาหารเยอะ บรรดาแม่ค้าทั้งหลายก็จะมาหาซื้อแต่ร้านคุณ เพราะถ้าไม่ใช่ร้านทุกอย่าง 20 บาท ที่อื่นเค้าจะบวกกำไรเยอะขายอันล่ะ 30 กว่าบาทขึ้นไป
– ถ่านไฟฉายขนาด AAA และขนาด AA ควรมีติดร้านไว้ตลอด เพราะถ่านไฟเป็นอะไรที่หมดไวมาก
– กระดาษเช็ดชู อันนี้ก็ขายดีเป็นอย่างมาก ควรมีสต็อคไว้หลังร้านอย่างน้อย2 – 3 โหล
ส่วนสินค้าเบ็ดเตล็ดอื่นๆ อย่างเช่นพวกกิ๊ฟช็อป ผู้เขียนขอแนะนำว่า สินค้าพวกนี้ไม่ต้องสต็อคเยอะ เพราะเป็นสินค้าที่ต้องหมุนเวียน เปลี่ยนแบบ และลายใหม่ๆมาตลอด ขอย้ำว่า สินค้าเบ็ดเตล็ดอย่างอื่นๆ ขอให้มีของใหม่ๆมาเข้าร้านตลอด เพราะถ้าลูกค้าเก่าเข้ามา แล้วเค้าซื้อของในร้านเราไปเยอะมากแล้ว ถ้าไม่มีสินค้าใหม่ให้เขาเลือกซื้อ นานๆวันเข้าลูกค้าเก่าๆเราก็จะหายไป
สิ่งสำคัญที่ต้องคำนึง
มากที่สุดในตอนท้ายก็คือ คุณต้อง บันทึกรายรับรายจ่ายทุกวันแล้วมาสรุปอีกทีในตอนสิ้นเดือน แล้วอย่าลืมคิดเงินเดือนให้ตัวคุณเองด้วย เพราะถ้าคุณไม่แบ่งรายจ่ายไว้เป็นเงินเดือนของคุณ คุณจะหยิบเงินในร้านไปใช้จ่ายส่วนตัว ซึ่งแบบนี้มันจะไม่ทำให้เรารู้ยอดกำไรขาดทุนที่แท้จริงของร้าน อย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้นว่า คุณควรจะต้องมีเงินสำรอง ไว้อย่างน้อย 6 เดือน ที่จะให้ร้านอยู่ได้ หากแม้นในเบื้องต้น ยังเห็นกำไรไม่พอที่จะต้องจ่ายเงินเดือนให้ตัวคุณเอง เพราะในช่วง 6 – 12 เดือนแรกของร้านนั้น เป็นช่วงที่สำคัญที่สุดร้านจะดำรงอยู่ได้หรือไม่ ขึ้นอยู่ในช่วงนี้ และหมั่นหาสินค้าใหม่ๆเข้าร้านมาเสมอ ถ้าหน้าร้านคุณมีพื้นที่ ให้หาสินค้าอย่างอื่นที่ไม่ใช่ทุกอย่าง 20 มาตั้งวางไว้ อย่างเช่น ตะกร้าใบใหญ่ ถังน้ำ ตะกร้าผ้า กระป๋อง ของใช้พาสติกต่างๆ ของเหล่านี้ถึงแม้คุณจะไม่ได้ขาย 20 บาท แต่มันเป็นตัวช่วยที่จะดึงลูกค้าเข้าร้านคุณได้มาก
ทำเลที่ตั้ง
ทำเลที่ตั้งนั้น เป็นตัวช่วยในการประเมินว่า ร้านของคุณต้องนำสินค้าแบบไหนเข้าร้านมากหน่อย เช่น หากร้านคุณตั้งอยู่ใกล้บริเวณโรงเรียน ก็ควรนำพวกอุปกรณ์การเรียน หรือกิ๊ฟช็อปเข้ามาเยอะหน่อย แต่หากทำเลที่ตั้งคุณอยู่ในย่าน ที่ร้านอาหารเยอะ คุณก็ควรนำพวกเครื่องครัว จาน ชามเข้ามาเยอะ และถ้าทำเลที่ตั้งคุณ อยู่ในที่มีอพาร์ทเม้นท์ขึ้นเยอะ หรือมีผู้พักอาศัยเยอะ ควรที่จะนำพวกข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันมาเยอะกว่าสินค้าตัวอื่นๆ