วอชิงตัน--15 ก.ย.--พีอาร์นิวส์ไวร์/อินโฟเควสท์
รายงานความก้าวหน้าประจำปีตอกย้ำความสำเร็จในการผลักดันกฎหมายกำหนดอายุผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการริเริ่มโครงการให้ความรู้เพื่อป้องกันการดื่มก่อนวัยอันควร
บรรดาซีอีโอของบริษัทผลิตเบียร์ ไวน์ และสุราชั้นนำระดับโลก ร่วมเปิดเผยรายงานความก้าวหน้าของโครงการลดการดื่มแบบอันตราย (harmful drinking) โดยผลปรากฏว่าในปีที่ 2 ของโครงการระยะ 5 ปีนั้น พันธกิจเพื่อลดการดื่มแบบอันตรายของกลุ่มผู้ผลิตเบียร์ ไวน์ และสุรา ( http://www.producerscommitments.org ) ได้มีความก้าวหน้าในหลายๆด้าน ทั้งการลดพฤติกรรมการดื่มก่อนวัยอันควร การป้องกันการดื่มแล้วขับ ตลอดจนการยกระดับและขยายหลักปฏิบัติทางการตลาดเพื่อส่งเสริมการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ
(รูปภาพ: http://photos.prnewswire.com/prnh/20150909/265153 )
ความสำเร็จอันโดดเด่นในรายงานนี้คือ ความก้าวหน้าของเหล่าผู้ผลิตในการลดการดื่มก่อนวัยอันควร โดยบริษัทที่ร่วมลงนามได้ริเริ่มโครงการให้ความรู้เพื่อป้องกันการดื่มก่อนวัยอันควรถึง 180 โครงการทั่วโลก ทั้งยังช่วยสนับสนุนการพัฒนานโยบายกำหนดอายุผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวียดนามในปี 2557 ด้วย
"บริษัทของเราดำเนินงานในกว่า 100 ประเทศ และเรามุ่งมั่นในการทำประโยชน์อย่างยั่งยืนผ่านความพยายามร่วมกันในทุกๆตลาดที่เราดำเนินงานอยู่" คาร์ลอส บริโต ซีอีโอของ Anheuser-Busch InBev กล่าว "พันธกิจของเราคือจุดเริ่มต้นที่ดีในการช่วยลดการดื่มแอลกอฮอล์แบบอันตรายทั่วโลก แต่การที่จะยกระดับผลการดำเนินงานไปอีกขั้นนั้น เราจำเป็นต้องขยายแนวร่วมไปสู่บริษัทผลิตเบียร์ ไวน์ และสุราแห่งอื่นๆ รวมไปถึงบรรดาผู้ค้าปลีก ภาครัฐ องค์กรระหว่างประเทศ และคนในชุมชน เรากำลังทำงานอย่างหนักในการประสานความร่วมมือของทุกฝ่าย เพื่อก่อให้เกิดผลลัพธ์ที่ทรงพลังยิ่งขึ้นในการลดการดื่มแบบอันตราย"
พันธกิจดังกล่าวถือเป็นโครงการที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในอุตสาหกรรมเพื่อแก้ปัญหาการดื่มแบบอันตราย สำหรับรายงานความก้าวหน้าประจำปี 2557 นั้น อ้างอิงจากตัวชี้วัดประสิทธิภาพการดำเนินงานหลักๆ ซึ่งได้รับการพัฒนาโดย Accenture Sustainability Services และผ่านการรับรองจาก KPMG Sustainability โดยรายงานประจำปีได้เผยให้เห็นถึงความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ดังนี้
- การเข้าถึงประชากรทั่วโลกมากขึ้นด้วยแนวทางใหม่ๆ ผ่านการใช้เครื่องมือและการให้ความรู้เพื่อลดการดื่มแบบอันตราย โดยโครงการให้ความรู้อันเป็นผลพวงจากการทำงานร่วมกันของบริษัทที่ร่วมลงนามกับองค์กรเอ็นจีโอ หน่วยงานภาครัฐ รวมถึงภาคส่วนอื่นๆนั้น ได้เข้าถึงเยาวชนที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์ดื่มมากกว่า 2.58 ล้านคนโดยตรง ทั้งยังเข้าถึงผู้ใหญ่ที่มีอิทธิพลต่อเยาวชนได้มากขึ้น จากราว 500,000 คน สู่ 3.26 ล้านคน โดยหนึ่งในเครื่องมือใหม่ๆที่นำมาใช้คือ การพัฒนาเว็บไซต์เพื่อผู้บริโภค http://www.responsibledrinking.org ซึ่งนำเสนอข้อมูลที่เข้าใจง่ายเกี่ยวกับการดื่มอย่างมีความรับผิดชอบ
- การขยายผลทั่วโลกผ่านการรณรงค์ป้องกันการดื่มแล้วขับ โดยบรรดาผู้ผลิตเบียร์ ไวน์ และสุรา ได้ริเริ่มโครงการรณรงค์ป้องกันการดื่มแล้วขับ 375 โครงการใน 146 ประเทศ ผ่านการดำเนินงานของแต่ละบริษัทและการทำงานร่วมกัน โดยบรรดาผู้ผลิตได้ร่วมมือกับ IARD เปิดตัวโครงการนำร่องที่ประสบความสำเร็จ โดยมีเป้าหมายในการลดการดื่มแล้วขับในจีน โคลอมเบีย เม็กซิโก ไนจีเรีย รัสเซีย และเวียดนาม โครงการในแต่ละประเทศเกิดขึ้นภายใต้ความร่วมมือกับภาครัฐ องค์กรประชาสังคม และองค์กรเอ็นจีโอ โดยมุ่งเพิ่มความตระหนักรู้ของประชาชน สร้างความสัมพันธ์ที่เข้มแข็งยิ่งขึ้นกับหน่วยงานบังคับใช้กฎหมาย และพุ่งเป้าไปยังกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงในการดื่มแล้วขับ
- การกำหนดแนวทางทำการตลาดดิจิตอล เมื่อเดือนกันยายน 2557 ซึ่งถือเป็นคู่มือฉบับแรกสำหรับผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อกำหนดทิศทางการทำการตลาดออนไลน์และการใช้โซเชียลมีเดีย เพื่อสร้างมาตรฐานระดับสูงเดียวกันในการทำกิจกรรมการตลาด เช่น การปฏิบัติตามกฎ 70/30 ที่กำหนดให้การโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์ วิทยุโทรทัศน์ และสื่อดิจิตอล ควรมีสัดส่วนผู้รับชมที่เป็นผู้ใหญ่ไม่ต่ำกว่า 70%
- การเผยแนวทางการให้ความรู้เรื่องแอลกอฮอล์ เมื่อเดือนตุลาคม 2557 ซึ่งจัดทำขึ้นตามคำแนะนำของคณะผู้เชี่ยวชาญ โดยอ้างอิงจากหลักปฏิบัติที่ดีที่สุดจากทั่วโลก โดยแนวทางดังกล่าวสนับสนุนการพัฒนาโครงการให้ความรู้เรื่องแอลกอฮอล์อย่างเป็นขั้นเป็นตอน โดยใช้สื่ออินเตอร์แอคทีฟที่มีความครอบคลุมและเข้าใจง่าย พร้อมกับยกตัวอย่างโครงการที่ดีซึ่งสามารถนำไปใช้หรือนำไปประยุกต์ให้เข้ากับกลุ่มผู้รับสารที่มีความแตกต่างกันได้
นอกจากนี้ รายงานความก้าวหน้ายังได้แจกแจงงานอื่นๆที่ต้องทำภายในระยะเวลา 5 ปีของโครงการ ได้แก่ การขยายโครงการรณรงค์ป้องกันการดื่มแล้วขับสู่ประเทศอื่นๆ การสานต่องานในกลุ่มประเทศเป้าหมายที่ยังไม่มีกฎหมายกำหนดอายุผู้ซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ตลอดจนการรุกสร้างความร่วมมือกับผู้ค้าปลีกรายใหญ่ทั่วโลก เพื่อกำหนดบทบาทที่เหมาะสมที่สุดในการสนับสนุนเป้าหมายการลดการดื่มแบบอันตราย ทั้งนี้ ใน 66 ประเทศจาก 117 ประเทศที่บริษัทผู้ร่วมลงนามดำเนินธุรกิจอยู่นั้น พบว่ามีบริษัทผู้ร่วมลงนามอย่างน้อย 1 แห่งที่กำลังเดินหน้าโครงการสร้างความร่วมมือกับผู้ค้าปลีกเพื่อลดการดื่มแบบอันตราย