บทวิจารณ์ภาพยนตร์ : “Last Summer ฤดูร้อนนั้นฉันตาย”
ชื่อบทความ : อยากลืมแต่กลับจำ
ผู้เขียน : นัฎฐา สุขรุ่ง
Last Summer ฤดูร้อนนั้นฉันตาย “คนพลาดไม่อยากจำ แต่คนตายอยากบอก” เป็นผลงานชิ้นแรกของค่าย ทาเลนต์วัน (Talent 1) ถือว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีที่ทำหนังผีประเดิม เพราะหนังผีเป็นหนังที่ได้รับความนิยมก็น่าจะเป็นหนังประเภทแรกๆ ที่ยังคงทำเงินได้ ซึ่งก็คือหนังผี ตัวละครหลัก สามารถเรียกกลุ่มคนที่ยังเดินเข้าโรงหนังอยู่ ซึ่งก็คือวัยรุ่น เพราะมีดาราแม่เหล็ก เป็น “ตัวดูด” คนดู สำหรับ Last Summer ก็คือน้องปันปัน-สุทัตตา และ เก้า-จิรายุ มีจุดขายที่ขยายความชื่อว่า “คนพลาดไม่อยากจำ แต่คนตายอยากบอก” ทำให้เกิดการกระตุ้นความอยากรู้ของคนดูได้เป็นอย่างมาก
หนังเล่าไปตามแนวทางของหนังผีสยองขวัญที่จะเล่นกับอารมณ์สะดุ้งกลัวของคนดูอยู่แทบตลอดเวลา หนังพยายามพูดถึงเรื่องราวทุกๆ ส่วนให้ม้วนมาบรรจบกันได้ดีในแง่ของประเด็น การแก่งแย่งแข่งขัน ชิงดีชิงเด่น และความรู้สึกของความต้องการที่จะเป็นคนที่ดูมีคุณค่า “เท่ากับ” หรือ “เหนือกว่า” คนอื่น กลายเป็นแรงผลักให้เกิดพฤติกรรมต่างๆ ซึ่งมีเนื้อหาที่น่าสนใจไม่น้อย เริ่มต้นตั้งแต่เรื่องครอบครัวพ่อแม่ อยากให้ลูกประสบความสำเร็จในชีวิต จนบางทีไม่ได้สนใจลูกว่ามีความรู้สึกอย่างไร เรื่องวัยรุ่นที่อยู่ในช่วงอยากรู้อยากลอง คึกคะนองทำอะไรก็ไม่ได้คิดหน้าคิดหลัง ทำอะไรไปโดยไม่คำนึงถึงผลลัพธ์ที่จะเกิดตามมา เรื่องการแข่งขันกันในสังคมที่แม้แต่เพื่อนบางทียังมีอิจฉาเพื่อน หรือแม้แต่การที่ไม่ต้องรับผิดชอบต่ออะไรทั้งสิ้นหรือไม่คำนึงถึงความรู้สึกคนอื่นของผู้คนในโลกโซเชี่ยลเน็ตเวิร์ก แก่นเรื่อง ที่มีเนื้อหากล่าวถึงวัยรุ่นยุคสมัยนี้ ในบริบทที่แรงและโดนโดยปกติแล้ว ในหนังที่มีตัวละครวัยรุ่น มักถูกออกแบบให้มีความไร้เหตุผล เป็นตัวละครสมองกลวงที่ใช้ชีวิตโลดโผนจนนำจุดจบมาสู่ตนเองแต่ตัวละครในหนังเรื่องนี้ กลับนำเสนอแง่มุมที่ต่างออกไปในมุมมอง...ที่ว่าวัยรุ่นต้องทำพฤติกรรมแบบที่ผู้ใหญ่ไม่เข้าใจบางทีอาจเป็นผลมาจากการถูกกดดันโดยสังคมที่แก่งแย่งแข่งขันและแรงกดดันจากสถาบันครอบครัว ความทะเยอทะยาน แก่งแย่ง แข่งขัน และความเข้มงวดของผู้เป็นพ่อเป็นแม่ก็ได้ หนังเรื่องนี้จึงไม่ได้ชี้เป้าไปที่ความพลาดของวัยรุ่นเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงความพลาด ของสังคม และของพวกผู้ใหญ่ด้วย
หนังเรื่องนี้แบ่งตัวเองเป็นสามส่วน เป็นสามมุมมองของสามตัวละครที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับเด็กสาวชื่อ “จอย” ซึ่งเสียชีวิตตอนไปเที่ยวทะเลกับเพื่อน 3-4 คน โจทย์ของหนังก็วางไว้ได้ตรงกับคำทีบอกว่า“คนพลาดไม่อยากจำ แต่คนตายอยากบอก” เพราะคนที่เกี่ยวข้องกับการตายของจอย อยากจะให้เรื่องมันจบๆ ไป แต่ “ผีจอย” ไม่ยอมที่จะให้มันเป็นเช่นนั้น เธอจึงวนเวียนมาหลอกหลอนราวกับวิญญาณอาฆาต หนังเริ่มด้วย เรื่องของสิงห์ (เก้า) : สิงห์เป็นเด็กวัยรุ่นคนหนึ่ง ที่ชวนจอย แฟนสาวของเขาและกลุ่มเพื่อนไปเที่ยวทะเล แต่ก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันขึ้น เมื่อสิงห์ทำจอยตาย โดยวิธีเดียวที่จะรอดพ้นความผิดได้คือ ต้องกลบเกลื่อน และอำพรางศพ ส่วนเรื่องที่สองเรื่องของมีน (ปันปัน) : มีนคือเด็กนักเรียนวัยรุ่น เธอเป็นเด็กเรียนดี และเป็นเพื่อนสนิทของจอย มีนไปเที่ยวทะเลกันในวันนั้นด้วย แต่หลังจากเหตุการณ์ที่ทะเลจบลง จอยกลับปรากฏตัวให้มีนเห็นอยู่บ่อยๆ คล้ายกับมีจุดประสงค์อะไรบางอย่าง ส่วนเรื่องสุดท้ายเป็นเรื่องของติ่งและแม่ ติ่งเป็นนักกระโดดน้ำของโรงเรียน อาศัยอยู่กับแม่ที่บ้านสองคน เขาคือน้องชายแท้ๆของจอย และแม้ว่าจอยจะตายไปแล้ว แต่ก็ดูเหมือนว่าพี่สาวของเขาจะไม่ยอมออกไปจากบ้านหลังนี้เสียที
โครงเรื่องทั้งสามถูกร้อยเข้าด้วยกันอีกครั้งด้วย "เรื่องของจอย" เพราะทั้งสามคนต่างมองเห็นผีจอยด้วยกันทั้งนั้น ซึ่งในแต่ละองค์ย่อยๆนั้นถูกแบ่ง Theme ไว้อย่างชัดเจน ใช้แนวคิดสัญญวิทยาเข้ามาสื่อ เรื่องของสิงห์ที่สื่อถึงเรื่อง"ความรักของหนุ่มสาว" เรื่องของมีนสื่อถึง "เพื่อนสนิท เพื่อนรัก" เรื่องสุดท้ายเรื่องของจอย ติ่งและแม่สื่อถึงเรื่อง"ครอบครัว" ประหนึ่งหนังค่อยๆกระเทาะเปลือกของความสัมพันธ์ในชีวิตของคนๆหนึ่งออกมาทีละเปลาะๆ ซึ่งในที่นี้ หนังเรื่องนี้ ในภาพรวม หนังพูดถึงความสัมพันธ์ของจอยที่เป็นผี กับคนรอบตัวที่ผ่านเข้ามาในชีวิตของเธอ โดยหนังใช้ตัวละครเหล่านั้น สะท้อนความเป็นตัวจอยอีกทีหนึ่ง
จุดที่เด่นๆ ของ “Last Summer” คงเป็นดนตรีประกอบที่ค่อนข้างสร้างอารมณ์น่าสะพรึงได้ดี ทำหน้าที่สอดรับกับภาพเคลื่อนไหวได้ลงตัว อีกส่วนก็คงเป็นการแสดงของ นักแสดง“ปันปัน” ที่เข้าขั้นน่าทึ่ง เด็กสาวตัวเท่านี้แต่ฝึมือการแสดงน่าชื่นชม ขณะ “เก้า” เป็นอีกตัวที่ทำได้โอเค แต่น่าเสียดายที่ใช้ไม่ค่อยคุ้มเท่าไหร่
จุดที่ด้อย หนัง ขมวดจบได้อย่างเรียบง่ายไม่มีอะไรให้ลุ้นระทึกอีกเลยในช่วงหลังเพราะเหมือนปล่อยของไปช่วงกลางเรื่องหมดแล้ว ผีจอย ทำได้ไม่น่ากลัวเท่าที่โปรโมตออกมา
ใน Last Summer แสดงภาพย้อนกลับด้านให้เห็น เมื่อเราสูญเสียคนรัก เรากลับไปหาเพื่อน เมื่อเราสูญเสียเพื่อน เรากลับไปหาครอบครัว กล่าวคือ เราจะกลับไปหาสถาบันที่เป็นรากของเราลงไปเรื่อยๆ (ซึ่งการตัดสินใจสุดท้ายของผีจอยนั้นดีมากๆ ซึ่งหนังได้ค่อยๆแสดงให้เห็นถึงกระบวนการเหล่านั้น รวมไปถึงการรื้อสร้างตัวเองของตัวละครหลัก ในที่นี่คือจอยซึ่งถ้าดูเผินๆแบบไม่คิดอะไรคงคิดว่า จอยมาไล่ตามเช็คบิลคนที่เกี่ยวข้องทั้งหมด แต่ในความคิดของผมคือ จอยเลือกปรากฏตัวกับคนที่เธอรัก แต่คนเหล่านั้นต่างหาก ที่เลือกจะเห็นจอยในรูปแบบของความรู้สึกผิดที่ตัวละครมีต่อจอย เพราะตัวละครทั้งหมดต่างรู้จักความมืดของตัวเองดีกว่าใครๆ
สรุปโดยรวมหนังเรื่องนี้ อาจจะทีปลายทางที่ไม่แตกต่างจากเรื่องอื่นๆมากนักแต่ก็ถือว่าเป็นหนังผีสะท้อนสังคมไทยที่ดีเรื่องหนึ่งที่คนไทยต้องดูแล้วคิดตาม หากตัดประเด็นเรื่องผีไป ก็นับว่ามีสาระชั้นดีแฝงอยู่มากมายให้ผู้ชมหยิบจับมาคิดสะกิดในกันได้อย่างมาก เพราะ เป็นเรื่องใกล้ๆตัวที่เกิดขึ้นจริงบนสังคมนี้