ราคาน้ำมันตลาดโลก ค่าการตลาด ภาษีสรรพสามิต และกองทุนน้ำมัน เป็นปัจจัยหลักของคำตอบ!
แน่นอนเรื่องราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เราไม่สามารถกำหนดเองได้อยู่แล้ว แต่สิ่งที่เรากำหนดเองอย่างภาษีทั้งหลาย และกองทุนน้ำมัน นั่นแหละที่ดูจะมีบทบาทที่ทำให้ราคาน้ำมันไทยแพงหูฉี่อยู่ขณะนี้
ทีนี้มาดูราคาน้ำมันวันที่ 3 สิงหาคมที่ผ่านมา ราคาน้ำมันเบนซิน 95 อยู่ที่ 39.74 บาทต่อลิตร แต่จะพบว่าเงินที่เก็บเข้ารัฐในรูปแบบต่างๆ มีสัดส่วนมากถึง 45% (ดูตาราง 1 ประกอบ)
เป็นเงินภาษีสรรพสามิต 7 บาท ภาษีเทศบาล 0.70 บาท กองทุนน้ำมัน 7 บาท กองทุนอนุรักษ์ฯ 0.75 บาท ภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือแวต คิดซ้อนกัน 2 ครั้ง เป็นเงิน 2.60 บาท รวมแล้วมากถึง 18.0499 บาท!!
ยิ่งน้ำมันเบนซิน 91 เงินเก็บเข้ารัฐพุ่งถึง 48% ส่วนน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และ 91 เก็บน้อยลงมาหน่อย เพราะเป็นพลังงานทดแทนที่รัฐสนับสนุนผ่านกองทุนน้ำมัน(เก็บน้อยลง หรือชดเชยแทนภาษีสรรพสามิต ส่งผลตัวเลขเงินจัดเก็บกองทุนน้ำมันบางรายการเป็น-) ทำให้สัดส่วนอยู่ที่ประมาณ 36-37%
แต่ยังนับว่ามากกว่าสัดส่วน 30-35% ที่สนพ.ได้เเปิดเผยสัดส่วนค่าภาษีและกองทุนต่างๆ ที่มีสัดส่วน 30-35% เท่านั้น!!
อาจจะดูเป็นเรื่องไม่ผิดปกติ แต่เมื่อเทียบโครงสร้างราคาน้ำมันเบนซิน 95 ณ วันที่ 4 สิงหาคม 2551 อยู่ที่ 39.39 บาท (ดูตาราง 2 ประกอบ) ซึ่งเป็นช่วงที่ราคาน้ำมันดิบอยู่ที่กว่า 110 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล (ดูต้นทุนราคาหน้าโรงกลั่นจะเห็นความแตกต่างชัดเจน) กลับพบความแตกต่างชัดเจน เพราะมีสัดส่วนเงินเก็บเข้ารัฐเพียง 27.50%
และไม่ต้องไปดูน้ำมันแก๊สโซฮอล์ทั้งหลาย เงินเก็บเข้ารัฐเพียงแค่ 2-3 บาทต่อลิตรเท่านั้น เนื่องจากได้รับการลดหย่อนภาษีสรรพสามิต จากมาตรการช่วยเหลือประชาชน “6 มาตรการ 6 เดือน ช่วยเหลือประชาชน” ของรัฐบาลอดีตนายกฯ “สมัคร สุนทรเวช” นับตั้งแต่วันที่ 25 กรกฎาคม 2551 – 31 มกราคม 2552 ภายหลังราคาน้ำมันปรับตัวพุ่งสูงถึงกว่า 40 บาทต่อลิตร เมื่อกลางปีที่แล้ว
อย่างไรก็ตาม เพื่อไม่ให้เกิดความเสียเปรียบ ให้ดูสัดส่วนเงินเก็บเข้ารัฐจากน้ำมันเบนซิน 95 และ 91 เพราะไม่ได้อยู่ใน “6 มาตรการ 6 เดือน ช่วยเหลือประชาชน” และคงจะเห็นต้นตอราคาน้ำมันแพงได้อย่างชัดเจน
มาจากเงินที่รัฐจัดเก็บค่าภาษีและกองทุนน้ำมันจากผู้ค้าน้ำมันนั่นเอง!!
โดยจุดพลิกที่ทำให้น้ำมันในไทยปัจจุบันแพงผิดปกติ ย่อมมาจากการยกเลิกการลดหย่อนจัดเก็บภาษีสรรพสามิต จาก “6 มาตรการ 6 เดือน ช่วยเหลือประชาชน” ของรัฐบาลนายกฯ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” เมื่อวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2552 ที่ผ่านมา
และไม่เพียงเท่านั้น รัฐบาลโอบามาร์คยังลักไก่ปรับภาษีสรรพสามิต น้ำมันเบนซินทุกประเภทชนเพดานสูงสุด 5 บาทต่อลิตร จากเดิมเรียกเก็บอยู่ที่ 3.685/4.685 บาทต่อลิตร ส่วนน้ำมันดีเซลทุกประเภท เดิมจัดเก็บอยู่ที่ 2.1898/2.305 และ 2.405 บาทต่อลิตร ปรับขึ้นไปเป็น 2.190/3.305 และ4.00 บาทต่อลิตร ขณะที่ภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E10 ทุกประเภท และ E20 ปรับเพิ่มแบบปัดตัวเลขทศนิยม จาก 3.165 เป็น 3.317 บาทต่อลิตร
แต่นั่นยังไม่เท่าไหร่ หากเทียบกับการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันระลอก 2 ภายหลังรัฐบาลออกอาการถังแตก!
ด้วยการออกพระราชกำหนดขยายเพดานจัดเก็บภาษีสรรพสามิตน้ำมัน โดยเพิ่มจาก 5 บาทต่อลิตร เป็น 10 บาทต่อลิตร ซึ่งกระทรวงการคลังได้ออกประกาศกระทรวง เพื่อให้มีผลบังคับใช้เกี่ยวกับอัตราการจัดเก็บภาษีน้ำมันเพิ่มขึ้นจากเดิม 2 บาทต่อลิตร หรือเป็น 7 บาทต่อลิตร (ยังไม่เต็มเพดาน) และมีผลบังคับใช้ตั้งแต่เที่ยงคืนวันที่ 14 พฤษภาคม 2552 เป็นต้นไป...
ทั้งที่เรื่องนี้หลายฝ่ายต่างออกมาแย้งไม่เห็นด้วย เพราะในสภาวะเศรษฐกิจตกต่ำเช่นนี้ รัฐควรจะช่วยประชาชนลดภาระค่าครองชีพ และลดต้นทุนทางธุรกิจ เพื่อร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจชาติให้ยืนอยู่ได้
แน่นอนว่าราคาน้ำมันปัจจุบัน จึงล้วนจัดเก็บตามอัตราภาษีสรรพสามิตใหม่ แม้แต่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ก็ไม่แตกต่าง โดยได้รับการอุดหนุนจากกองทุนน้ำมันเพียงแค่ไม่กี่สตางค์เท่านั้น ยกเว้นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ อี85
เหตุนี้จึงไม่แปลกที่สัดส่วนเงินเก็บเข้ารัฐ จะสูงถึง 36-48% ทั้งที่สนพ. เคยระบุว่าเงินค่าภาษีและกองทุนต่างๆ ที่รัฐเก็บจากผู้ค้าน้ำมันเพียงแค่ 30-35% ปัจจุบันมันจะพุ่งไปกว่า 36-48%
ฉะนั้นคำถามที่ว่า… ทำไม? ราคาน้ำมันไทยแพง ทั้งที่ราคาน้ำมันตลาดโลกต่ำกว่าเมื่อปีที่แล้ว คงจะได้คำตอบชัดเจนแล้ว… สาเหตุมาจากอะไร?! นอกจากการโยนให้บริษัทปตท., โรงกลั่น และราคาน้ำมันในตลาดโลก!!