ไม่ว่าคุณจะมีมุมมองต่ออาหารจานด่วนอย่างไร แต่คุณจะไม่มีวันเห็นด้วยที่ป่าฝนเขตร้อนต้องมาลงเอยที่การเป็นกล่องห่ออาหารที่กลายเป็นขยะ แต่สิ่งเหล่านี้กำลังเกิดขึ้นจริง เมื่อKFCได้จัดซื้อกระดาษที่มาจากป่าฝนเขตร้อนในประเทศอินโดนีเซียจากบริษัทAsia Pulp & PaperหรือAPPเพื่อผลิตกล่องใส่อาหาร

ผู้พันแซนเดอร์ตัวจริงคงไม่ได้นึกว่าบริษัทที่เขาก่อตั้งในมลรัฐเคนตั้กกี้ ประเทศสหรัฐอเมริกามาตั้งแต่ปี 2473 จะมีส่วนทำลายป่าฝนเขตร้อนในอีกฟากหนึ่งของโลก
แต่รายงานการศึกษาวิจัยของกรีนพีซสากลฉบับล่าสุด ที่มีชื่อว่า“KFC มีส่วนทำลายป่าฝนเขตร้อนได้อย่างไร” ได้ศึกษาไปถึงห่วงโซ่อุปทานของ KFC ทั้งหมดและพบว่ากระดาษบรรจุภัณฑ์ที่ KFC ใช้นั้นทำมาจากไม้ในป่าฝนเขตร้อน ที่ดำเนินการจัดหาโดยบริษัท APP โดย APP ได้นำไม้ดังกล่าวมาจากแหล่งที่อยู่อาศัยของเสือสุมาตราเมื่อสัปดาห์ก่อน APP ได้ประกาศสิ่งที่บริษัทเรียกว่า “ข้อตกลงใหม่เพื่อการปกป้องป่า”แต่ในความเป็นจริงพวกเขายังคงเดินหน้าทำลายป่าฝนเขตร้อนของอินโดนีเซียต่อไป
กรีนพีซได้เปิดตัวงานรณรงค์พร้อมกันทั่วโลกเพื่อชักชวน KFC และบริษัทแม่ที่มีชื่อว่า Yum! ให้หยุดการใช้วัตถุดิบที่มาจากการทำลายป่าในทั้งห่วงโซ่ผลิตภัณฑ์ นอกจากนี้ เราได้ผลิตวิดิโอผู้พันแซนเดอร์และปฏิกิริยาของเขาหลังทราบว่าเบื้องหลังสูตรเด็ดของอาหารเขาคือการทำลายป่าสามารถชมวิดิโอได้ที่นี่
ในขณะเดียวกัน นักกิจกรรมของเราได้ไปยืนอยู่หน้าสำนักงานใหญ่ของ KFC ที่ Louisville มลรัฐเคนตั้กกี้ เพื่อย้ำเตือนผู้บริหาร KFC ที่กำลังเดินเข้ามาทำงานในตอนเช้า ว่าพวกเขาไม่ควรนิ่งเฉยต่อเรื่องนี้ โดยนักกิจกรรมกรีนพีซได้ติดป้ายผ้าขนาดใหญ่พร้อมรูปเสือสุมาตรา ข้อความว่า“KFC หยุดทำลายบ้านเราเถอะ”ที่หน้าสำนักงาน นักกิจกรรมอีกกลุ่มยังได้ติดป้ายผ้าที่ตึกของบริษัท Yum! ด้วยข้อความเดียวกัน
KFC และ Yum! ไม่มีนโยบายที่ยั่งยืนเหมือนกับบริษัทอาหารฟาสท์ฟู้ดแบรนด์อื่นๆที่จะไม่ใช้กระดาษที่มาจากการทำลายป่าฝนเขตร้อน และยังเพิกเฉยต่อหลักฐาน หลังจากที่เราพยายามให้ทั้งสองบริษัทเปลี่ยนแหล่งจัดหาวัตถุดิบ ทั้งสองแห่งยังคงดำเนินการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างช้า ทั้งๆที่ทั้งคู่จะต้องไม่หันหลังให้กับปัญหานี้อีกต่อไป หากยังคงต้องการให้เสือสุมาตราที่ใกล้สูญพันธุ์มีแหล่งที่อยู่อาศัยในผืนป่า
เรารู้ว่า KFC และ Yum! สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมของพวกเขาได้ ร่วมกันบอก KFC ว่าสูตรอาหารทำลายป่าจานนี้มันไม่ดีเลย ในตอนนี้ ผู้คนจากทั่วทุกมุมโลก ตั้งแต่อินโดนีเซียถึงจีน ออสเตรเลียถึงอเมริกา และยุโรป ต่างต้องการให้ KFC ไม่เปลี่ยนผืนป่าของเราให้เป็นเศษขยะ!!!