อดีตนายกรัฐมนตรีของเราหลายท่านมีความอ้วนท้วนสมบูรณ์ อีกทั้งมีสิ่งที่เรียกกันอย่างไม่เป็นทางการว่า "พุง" อย่างเปิดเผย สุภาพบุรุษผู้มีอำนาจและมีพุงด้วยนั้นมักจะเดินยืดพุง และแอ่นพุงได้อย่างภาคภูมิใจ ถ่ายรูปออกสื่อได้โดยมิต้องตกเป็นเป้าครหาเลยแม้แต่ครั้งเดียว
ฉันพยายามทบทวนความทรงจำว่า มีการเม้าธ์มอยเรื่องขนาดของพุงของอดีตนักการเมืองหรือนายกรัฐมนตรีชายคนใดบ้างในประวัติศาสตร์สื่อสารมวลชนไทยและการเมืองไทยสมัยใหม่ เท่าที่จำความได้ ดูเหมือนจะไม่มี
แต่พื้นที่ในสื่อและโดยเฉพาะอย่าง social media ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์หรือเฟซบุ๊กในสังคมไทยนับตั้งแต่เรามีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้หญิง ความสนใจของมวลชนและสื่อมวลชนดูเหมือนจะไม่อยากออกห่างจาก "ร่างกาย" ของนายกรัฐมนตรีของเราเลยแม้แต่น้อย
(โปรดทบทวนว่าเป็นปัญหาของนายกรัฐมนตรีหรือเป็นปัญหาของเรากันแน่ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของมวลชนและสื่อมวลชน)
ฝ่ายที่ไม่ชอบนายกรัฐมนตรี ดูเหมือนจะเฝ้าภาวนาอยากให้นายกรัฐมนตรีของเราสวยน้อยกว่านี้สักนิด จะได้มีประเด็นให้กระแหนะกระแหนได้ง่ายหน่อย
แต่เมื่อนายกรัฐมนตรีของเราได้สวยไปเสียแล้ว แม้จะอยากสวยน้อยกว่านี้-เผื่อจะทำให้ฝ่ายที่ไม่ชอบนายกฯ สบายใจขึ้นบ้าง-ก็เป็นเรื่องที่เกินความสามารถจะทำได้
หนทางเดียวที่ฝ่ายต่อต้านนายกฯ จะหยิบยกมาโจมตี ดิสเครดิตได้คือโจมตีว่าเป็นตุ๊กตาบาร์บี้บ้าง ดีแต่สวยบ้าง สวยแต่ไม่เหมาะสมบ้าง (กรณีใส่ชุดฮันบก)
ส่วนฝ่ายที่เอาใจช่วยนายกฯ เต็มที่ (ฉันเป็นหนึ่งในนั้น) ก็ต้องมานัวเนียในประเด็นเกี่ยวกับร่างกายของนายกฯ ไปกับเขาด้วย เพราะต้องคอยตอบโต้อีกฝ่ายหนึ่งด้วยการยืนยันว่า "มีนายกฯ สวยดีมีชัยไปกว่าครึ่ง"
เถียงกันในเรื่องนี้เกือบจะครึ่งปี จนเราแทบจะไม่ได้สังเกตว่าพื้นที่ในหน้าสื่อมวลชนให้ความสำคัญกับเรื่องอื่นๆ น้อยเกินไปหรือเปล่า?
เช่น เรื่องที่คนไทยน่าจะต้องลุ้นระลึกกันให้มากคือ เราจะได้มีรถไฟความเร็วสูงตามที่พรรคเพื่อไทยหาเสียงไว้จริงหรือเปล่า, ตำแหน่งแห่งหนของประเทศไทยในอาเซียนจะเป็นอย่างไร?,
ท่ามกลางบรรยากาศทางการเมืองที่คลี่คลายไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้นของประเทศเพื่อนบ้าน ประเทศไทยของเราจะไปชิงตำแหน่งประเทศที่ล้าหลังในภูมิภาคมาจากประเทศอื่นๆ ที่เคยครองตำแหน่งนี้หรือเปล่า?,
ประเทศกัมพูชายกเลิกโทษประหารชีวิตแล้ว (ด้วยปัจจัยของการเมืองภายใน) ประเทศไทยมีดีเบตเกี่ยวกับเรื่องนี้อย่างไร?
เรื่องแบบนี้น่าสนใจกว่าเรื่องพุงนายกฯ หรือเปล่า?มิพักต้องถามว่าไม่เห็นมีใครเคยตั้งคำถามกับพุงของอดีตนายกฯ สมัคร สุนทรเวช เลยนี่นา
ในบรรดาผู้ที่วันๆ นั่งดูว่าวันนี้นายกฯ ใช้รองพื้นอะไร? ใส่ชุดอะไรให้โจมตี มีพุงยื่นหรือไม่มี หากท่านเอาตัวเองออกมาจากภาวะลุ่มหลง "ร่างกาย" ของนายกฯ แล้ว ท่านจะพบว่ามีอีกหลายประเด็นปัญหาในเมืองไทยตอนนี้ที่เราสามารถตั้งคำถามกับรัฐบาลและการทำ
งานของนายกรัฐมนตรีได้
เขียนไปเขียนมาฉันชักเครียด ว่าในกลไกของหลักการคานอำนาจ ถ่วงดุลอำนาจของรัฐบาลในระบอบประชาธิปไตยนั้นฝ่ายค้านทั้งฝ่ายค้านในรัฐสภาและฝ่ายประชาชนที่ไม่ได้เลือกพรรครัฐบาล-ในระหว่างที่พรรคตรงกันข้ามของกำลังเป็นรัฐบาลนั้น-เขามีหน้าที่ในการตรวจสอบ เปิดโปง ความไม่ชอบมาพากลในการทำงานของรัฐบาล มีหน้าที่จะนำข้อมูลที่ดีกว่า ลึกกว่า หรือเสนอสิ่งที่ดีกว่าออกมาให้สังคมเห็นว่า เฮ้ย...ตอนนี้ รัฐบาลทำงานไม่ดี ไม่เป็นอย่างไรบ้าง เพื่อโน้มน้าวให้ประชาชนรู้สึกว่า เออ...
เลือกตั้งคราวหน้าเราลองเลือกอีกพรรคหนึ่งดีกว่าไหม?
มิใช่วันๆ มานั่งฟูมฟายเรื่อง เสื้อ ผ้า หน้า ผม ของนายกฯ นั่งตอดเล็กตอดน้อย ใส่ร้ายเรื่องส่วนตัวอันปราศจากหลักฐานที่น่าเชื่อถือมารองรับ
หรือคร่ำครวญเรื่องสภาวะไร้ทางออกของการเป็นเสียงส่วนน้อยที่ไม่มีวันชนะการโหวตในสภา ซึ่งต้องย้ำให้ทราบว่า หากท่านทำการบ้านในการตรวจสอบรัฐบาลได้มีประสิทธิภาพอย่างแท้จริง ภายใน 4 ปีนี้ท่านอาจแพ้โหวตในสภา แต่ท่าจะชนะในการเลือกตั้งครั้งต่อไป
นี่คือหลักการของประชาธิปไตยระบบรัฐสภาง่ายๆ
ไม่มีฝ่ายค้านที่ไหนในโลกนี้มาโวยวาย ประท้วงในการประชุมสภาครั้งแล้วครั้งเล่า กระทืบเท้าเต้นเร่าว่า "พวกผมเสียงน้อย โหวตก็แพ้ โหวตก็แพ้ แงงๆ ฮือๆ"
เพราะการทำงานของฝ่ายค้านคือการทำงานเพื่อจะชนะใจประชาชนในการเลือกตั้งครั้งต่อไป มิใช่การชนะโหวตในสภาซักหน่อย-เนอะ
ทั้งเรื่องชุดฮันบก หรือการโจมตีนายกฯ ว่าบาร์บี้ การส่องพุงนายกฯ ทำให้ฉันตระหนกว่าแท้จริงแล้วปัญหาของการเมืองไทยไม่ได้อยู่ที่เรามีรัฐบาลที่ทำงานไม่ได้ดั่งใจ แต่เป็นเพราะเราไม่เคยมี "ฝ่ายค้าน" ที่แท้จริง ตลอดระยะเวลาของการมีประชาธิปไตยในเมืองไทย
ในยุคที่ฝ่ายค้านไม่ได้ "ลุ่มหลง" อยู่กับเพศสถานะและร่างกายของ "นายกรัฐมนตรี" (อือม...จินตนาการถึงการลุ่มหลงร่างกายของอดีตนายกฯ ที่ไม่ใช่คุณยิ่งลักษณ์ดูแล้ว จินตนาการไม่ออกจริงๆ แฮะ) ดูเหมือนว่าฝ่ายค้านของเราทำงานอยู่เรื่องเดียวเท่านั้นคือ ค้าน ตรวจสอบ โจมตีเรื่องคอร์รัปชั่น
แต่เราไม่เคยมีฝ่ายค้านที่ประกาศว่าตนเองมีจุดยืนทางการเมือง และอุดมการณ์ทางการเมือง สังคม วัฒนธรรม มีภาพสังคมไทยในอุดมคติที่แตกต่างไปจาก "พรรครัฐบาล"
เราไม่เคยมีฝ่ายค้านที่มีอุดมการณ์ "ตรงกันข้าม" กับฝ่ายรัฐบาลเลย เว้นแต่ในช่วงสั้นๆ หลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 ที่มีพรรคการเมืองซึ่งยึดอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย, อนุรักษ์นิยม และ สังคมนิยม ค่อนข้างชัดเจน
เมื่อเราไม่เคยมีฝ่ายค้านที่แท้จริง จึงไม่ต้องแปลกใจที่เราจะรู้สึกว่า "เอ๊ะ ทำไมถึงลอกนโยบายกันมาหาเสียง" หรือ "เอ๊ะ ใครลอกการบ้านใครกันแน่" จากนั้นเวทีดีเบตการเมืองไทยก็จะจำลองสภาพเด็ก ป.5 ทะเลาะกันออกมาให้เราเห็นในสื่อ ชั้นคิดเรื่องนี้ก่อนนาย", "ไม่จริง นายนั่นแหละ ลอกการบ้านชั้น"
จบข่าว (มีต่อ)