รู้จักตัวเองด้วยการทดสอบสมรรถภาพทางกาย
ในทุกวันนี้มีโรคภัยไข้เจ็บมากมายที่มาคุกคามคนเรา ทั้งๆ ที่วิทยาการทางการแพทย์เจริญก้าวหน้าเพิ่มมากขึ้น แต่เราก็ยังไม่สามารถเอาชนะโรคร้ายต่างๆ ได้ ไม่ว่าจะเป็นโรคมะเร็ง ถุงลมโป่งพอง ความดัน เบาหวาน เป็นต้น และยังมีโรคใหม่เกิดขึ้นอีก ดังนั้นวิธีการป้องกันก่อนภัยมาถึงตัว ก็คือการเตรียมสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงสมบูรณ์นั่นเอง
สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงการมีสุขภาพที่ดีคือ สมรรถภาพทางกาย ซึ่งหมายถึงความสามารถในการดำรงชีวิตประจำวัน ทำกิจกรรมต่างๆ รวมถึงการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยการทำงานได้นานถึงจะเหนื่อยหรือเมื่อเกิดความเหนื่อยล้า สามารถกลับคืนสู่สภาวะปกติได้อย่างรวดเร็ว
เราจะรู้ได้อย่างไรว่า เรามีสมรรถภาพทางกายที่ดี คำตอบคือ ต้องมีการทดสอบสมรรถภาพทางกาย (Physical Fitness Test) หมายถึงการวัดและประเมินผลความแข็งแรงสมบูรณ์ของร่างกายหรือสมรรถภาพทางกายในด้านต่างๆ เช่น ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ, ความอดทนของกล้ามเนื้อ ความเร็ว ความคล่องแคล่วว่องไว ความอ่อนตัว ความอดทนของระบบไหลเวียนโลหิตและระบบหายใจ เป็นต้น
หากเรามีการทดสอบสมรรถภาพทางกายจะทำให้ได้รับประโยชน์อย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการนำผลที่ได้รับจากการทดสอบมาเป็นแนวทางในการกำหนดรูปแบบและวิธีการออกกำลังกายที่เหมาะสมกับสภาพร่างกายของแต่ละบุคคล การนำผลการทดสอบทั้งก่อนและหลังการออกกำลังกายมาเปรียบเทียบเพื่อประเมินถึงความก้าวหน้าทางด้านสมรรถภาพทางกายได้ และยังสามารถนำไปวินิจฉัยเบื้องต้นถึงความบกพร่องด้านสุขภาพที่มีแนวโน้มที่อาจจะเกิดปัญหาทางด้านสุขภาพ หรือในวงการกีฬายังสามารถนำมาเป็นแนวทางในการคัดเลือกนักกีฬาได้อีกด้วย
เราจะทดสอบสมรรถภาพทางกายได้อย่างไรบ้าง มีวิธีง่ายๆ หลายวิธี เช่น การวัดชีพจรขณะพัก ซึ่งชายหญิงที่มีอัตราการเต้นชีพจรต่ำกว่า 50 ครั้งต่อนาที ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ถ้าชายมีอัตราการเต้นชีพจรอยู่ระหว่าง 61-80 ถือว่าปกติ หรือชายหญิงที่มีอัตราการเต้นชีพจร 81-90 ถือว่าสูงกว่าปกติ เป็นต้น หรืออาจใช้วิธีดันพื้นภายใน 30 วินาที เพื่อทดสอบความแข็งแรงของกลุ่มกล้ามเนื้อแขน หัวไหล่ และอก ถ้าหญิงอายุ 30-39 ปี ทำได้ 20 ครั้งขึ้นไปถือว่าดีมาก หรือชายอายุ 40-49 ทำได้น้อยกว่า 12 ครั้ง ถือว่าค่อนข้างต่ำ
นอกจากนี้ยังมีวิธีการทดสอบด้วยการลุก-นั่งภายใน 30 วินาที เพื่อทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อท้องและลำตัว ถ้าหญิงอายุ 20 -29 ปี ลุกนั่งได้ 20 ครั้งขึ้นไปถือว่าอยู่ในเกณฑ์ดีมาก ถ้าชายอายุ 50-59 ปี ลุกนั่งได้น้อยกว่า 5 ครั้งถือว่าค่อนข้างต่ำ แต่สำหรับผู้สูงอายุ 60 ปี ขึ้นไป จะใช้วิธีการทดสอบโดยการลุกนั่งเก้าอี้ภายใน 30 วินาที เพื่อทดสอบความแข็งแรงของกล้ามเนื้อสะโพก ต้นขาด้านหน้าและด้านหลัง ในการลุกขึ้นยืนและนั่งเก้าอี้ ถ้าหญิงอายุ 60-69 ปี และถ้าชาย อายุ 70 -79 ปี ทำได้ 20-21 ครั้ง อยู่ในเกณฑ์ดี แต่ถ้าน้อยกว่า 12 ครั้งอยู่ในเกณฑ์ต่ำ เป็นต้น
สำหรับเคล็ดลับในการพัฒนาเสริมสร้างสมรรถภาพทางกายมีวิธีง่ายๆ เช่น ควรเริ่มออกกำลังกายอย่างค่อยเป็นค่อยไป ไม่หักโหม หรือเร่งเกินไป ก่อนการออกกำลังกาย ควรอบอุ่นร่างกาย และยืดเหยียดกล้ามเนื้อ หลังการออกกำลังกายต้องยืดเหยียดกล้ามเนื้อและคลายอุ่นร่างกาย หากจะรับประทานอาหารควรพักก่อน 20 นาที แล้วจึงรับประทานอาหารได้ ควรดื่มน้ำสะอาดในแต่ละวันไม่น้อยกว่าวันละ 8 แก้ว และนอนหลับอย่างเพียงพอวันละ 6-8 ชั่วโมง หากสังเกตเห็นว่าร่างกายมีอาการผิดปกติ เช่น แน่นหน้าอก หรือปวดหัว ควรรีบไปพบแพทย์ทันที
ยังมีวิธีทดสอบอีกหลายวิธีที่ทำให้เรารู้ถึงสมรรถภาพทางกายของตัวเราเอง ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียด และติดต่อขอรับหนังสือคู่มือทดสอบสมรรถภาพทางกายเบื้องต้นฟรีได้ที่ กลุ่มพัฒนาเทคโนโลยีทางการกีฬา สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาสนามกีฬาแห่งชาติ ปทุมวัน กรุงเทพฯ เว็บไซต์ www.dpe.go.th