“ผ้าภาคใต้อายุสั้น” ครูพูดเรียบๆ แต่คนฟังใจเต้นแรง “และการทอผ้าของจังหวัดยะลาก็สูญหายไป ปัตตานี นราธิวาส จังหวัดใกล้ๆ กันยังมีคนทอผ้าอยู่ แต่ของยะลาผมต้องกลับไปตั้งต้นที่จุดเดิมของผ้าเลย”
ราวปี 2548-2549 ครูปิยะ สุวรรณพฤกษ์ ซึ่งจากไปทำงานไกลบ้าน คิดกลับมาบ้านเกิด นึกถึงสมัยที่คุณยายใช้ผ้าผืนสวย ประกอบกับภาพจากฝาผนังวัดต่างๆ ทำให้รู้ว่าคนสมัยก่อนเขานุ่งผ้าที่มีลายเป็นเอกลักษณ์ “มันไม่ใช่ผ้าปาเต๊ะ มันมีอะไรมากกว่านั้น แล้วเผอิญว่าไปเจอผ้าเก่า ตอนนั้นเรายังไม่รู้ว่าเขาเรียกว่าผ้าอะไรด้วยซ้ำ”
สะดุดตาสะดุดใจจนต้องกลับไปค้นคว้าอย่างจริงจัง หาข้อมูลทั้งหอจดหมายเหตุที่กรุงเทพฯ ทั้งจากหนังสือของกรมศิลปากร จนได้รู้จักตัวจริงของผ้าผืนนี้
“มีหลายเหตุผลที่ผ้าทางใต้หายไป หลักๆ คือ มีการเปลี่ยนแปลงเครื่องแต่งกายของไทยในยุคหนึ่ง คนที่เคยใช้ผ้านุ่งก็เปลี่ยนมาใส่กางเกง วัฒนธรรมเปลี่ยนส่งผลถึงผ้าด้วย อย่างผ้าซองเก็ต ผ้าปะลางิง ก็ค่อยๆ หายไป โรงงานผ้าก็ทยอยปิด โรงงานผ้าปาเต๊ะในภาคใต้สมัยก่อนมีเยอะมาก เดี๋ยวนี้เหลืออยู่แค่ 2-3 แห่งเท่านั้น ที่สำคัญผ้าบางตัวของบ้านเรายังรื้อฟื้นไม่ได้เลย”
เพราะผ้าไม่ได้เป็นแค่เส้นใยที่ทอเป็นผืนเท่านั้น แต่เสมือนวัฒนธรรมและวิถีชีวิตที่ถักทอมาให้ผู้คนสวมใส่
เมืองที่การทอผ้าหายสาบสูญ
เมื่อก่อนพื้นที่แถบนี้จะอยู่ในเขตมณฑลปัตตานี เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ คล้ายๆ กับเมืองมะละกาของมาเลเซีย การค้ากับต่างประเทศก็จะมาทางเรือซึ่งวัฒนธรรมต่างๆ ก็ไหลมาตามน้ำเช่นกัน
“ผ้านี้มาจากอินเดีย เขาเรียกว่าผ้า บันตานี (Bandhani) เป็นผ้าไหมซึ่งใช้ไหมน้อยเส้นบางมากเหมือนบ้านเรา แล้วก็มีเทคนิคการพิมพ์ การมัดย้อม การเพนต์ การกัดสี รวมกันในผ้าผืนเดียว พอผ่านมาทางอินโดนีเซีย มาเลเซีย จะมีการเรียกชื่อที่เพี้ยนไป จนถึงบ้านเราก็เรียกกันว่า ปะลางิง (Palanging) ทุกที่ก็มีการทำผ้าที่มีสไตล์ของตัวเองแต่จะพยายามคงเอกลักษณ์ของผ้าต้นแบบจากอินเดียเอาไว้”
ก่อนจะไปไกลถึงลายผ้า การจะมีผืนผ้าให้มาสร้างสรรค์งานสวยๆ ก็เป็นเรื่องยาก เพราะยะลาไม่มีใครทอผ้าแล้ว!!!
www.thaipower.co/ปะลางิงครูปิยะ-ผู้คื