เศรษฐกิจไทยเป็นอย่างไรกับการกลับมาของโควิด-19
กอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารงานวิจัยเศรษฐกิจ และตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า จากที่เคยประมาณการ GDP ของทั้งปีนี้อยู่ที่ 1.8% ตอนนี้ก็ปรับลงมาอีกครั้ง
เพราะจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 มาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี การล็อกดาวน์ต่าง ๆ ที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจ ทำให้การบริโภคภายในประเทศชะลอตัวลง
มองว่าทั้งปีนี้ GDP ของไทยจะขยายตัวเพียง 1%
แม้จะมีปัจจัยตัวแปรที่ดีขึ้นอย่างสภาพเศรษฐกิจการค้าโลก ที่ค่อย ๆ ผงกหัวขึ้นมาแล้ว แม้จะไม่เท่ากับปีที่ผ่านมาก็ตาม
แต่เป็นสัญญาณที่ดีให้กับ ‘การส่งออก’ รวมถึงการส่งออกของไทยด้วย
บวกกับการฉีดวัคซีนที่อาจจะมีความเหลื่อมล้ำระหวางประเทศที่พัฒนาแล้ว และประเทศเกิดใหม่
แต่ในประเทศหลัก ๆ อย่าง จีน สหรัฐฯ ยุโรป ที่ฉีดวัคซีนไปแล้วค่อนข้างมากนั้นก็ส่งผลบวกต่อการส่งออก
จากที่เคยประเมินตัวเลขการส่งออกของปีนี้ไว้ที่ 9% ก็ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 11.5%
โดยที่เกือบทุกตลาดที่ไทยทำการค้า และทุกกลุ่มสินค้าขยายตัวได้ดี ยกเว้นกลุ่มสินค้าฟุ่มเฟือยอย่างอัญมณีที่ยังไม่ฟื้นตัว
นอกจากนี้ ไทยยังได้อานิสงส์จากกำลังการผลิตปิโตรเคมี ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ที่ทำให้การส่งส่งออกของไทยขยายตัว
ขณะที่ภาคอุตสาหกรรม ‘การท่องเที่ยว’ นั้น กอบสิทธิ์ระบุว่า อาจจะต้องกลั้นหายใจอีกสักพักใหญ่ กว่าที่ตลาดจะกลับมาฟื้นตัว
เพราะการแพร่ระบาดของโควิด-19 สายพันธุ์เดลต้าในหลาย ๆ ประเทศที่มีมากขึ้น
นอกจากนี้ อุปสงค์ในประเทศยังคงเปราะบางทั้งการค้าปลีก การเดินทาง
ขณะเดียวกันมาตรการความเข้มงวดใน 13 จังหวัด ซึ่งเป็นจังหวัดที่มีสัดส่วนจีดีพีค่อนข้างมากกับเศรษฐกิจในไทย คิดเป็นสัดส่วนราว ๆ 49%
ความไม่แน่นอนที่เกิดขึ้น และการล็อกดาวน์ที่เข้มงวดมากขึ้น ก็จะสะท้อนตัวเลขจีดีพีที่ลดลงเรื่อย ๆ
คำตอบเดียวที่จะเป็นแสงสว่างและความหวังมากขึ้นให้ไทยคือ ‘วัคซีน’ และ ‘คุณภาพของวัคซีน’
ซึ่งหากไทยยังไม่สามารถแก้เรื่องระบบสาธารณสุขได้ ระบบเศรษฐกิจและเศรษฐศาสตร์ก็ไม่มีลุ้น
https://marketeeronline.co/archives/227321