กิจกรรมภายใต้โครงการ "CULTURE GATE to JAPAN" ของสำนักวัฒนธรรมญี่ปุ่น
เมื่อวันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564 สำนักวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้เปิดตัวนิทรรศการศิลปะรูปแบบใหม่ ณ สนามบินฮาเนดะและสนามบินนาริตะ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการ "CULTURE GATE to JAPAN" โดยขณะนี้ ผลงานศิลปะมัลติมีเดียของศิลปิน 8 กลุ่มกำลังจัดแสดงที่สนามบินและทางออนไลน์ โดยมีจุดประสงค์เพื่อโปรโมทเสน่ห์ของวัฒนธรรมญี่ปุ่นให้ทั่วโลกได้สัมผัส
ธีมของนิทรรศการที่สนามบินฮาเนดะและสนามบินนาริตะคือ "VISION GATE" ภายใต้การกำกับดูแลของ Paola ANTONELLI โดยมีจุดประสงค์เพื่อนำเสนอ "วิสัยทัศน์" จากอดีตสู่อนาคต และบทบาทในฐานะรากฐานของวัฒนธรรมญี่ปุ่น
-ระยะเวลา: เปิดให้เข้าชมตั้งแต่วันที่ 27 กุมภาพันธ์ 2564
-สถานที่:
[ผลงานศิลปะจัดวาง] สนามบินฮาเนดะ อาคารผู้โดยสาร 2, ล็อบบี้ผู้โดยสารขาออกชั้น 2, จุดตรวจรักษาความปลอดภัย D
[ผลงานวิดีโอ]
- สนามบินฮาเนดะ อาคารผู้โดยสาร 3, อาคารเทียบเครื่องบินผู้โดยสารขาเข้าชั้น 2
- สนามบินฮาเนดะ อาคารผู้โดยสาร 1 และ 2, อาคารเทียบเครื่องบินผู้โดยสารขาออก
- สนามบินนาริตะ อาคารผู้โดยสารทั้งหมด, ป้ายดิจิทัลต่าง ๆ
*สถานที่จัดแสดงผลงานวิดีโอในสนามบินฮาเนดะอยู่ในบริเวณจุดตรวจรักษาความปลอดภัย
-ค่าเข้าชม: ไม่คิดค่าเข้าชม
-ธีม: VISION GATE
-ภัณฑารักษ์: Paola ANTONELLI
Paola ANTONELLI ดำรงตำแหน่งภัณฑารักษ์อาวุโสด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ ณ พิพิธภัณฑ์ Museum of Modern Art ในนิวยอร์ก และเป็นผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยและพัฒนาของ MoMA โดยงานของเธอครอบคลุมการค้นคว้าผลพวงของการออกแบบที่มีต่อประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน ซึ่งบ่อยครั้งรวมถึงวัตถุและวิธีปฏิบัติที่ถูกมองข้าม ตลอดจนการผสมผสานการออกแบบ สถาปัตยกรรม ศิลปะ วิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยี
หลังจากนิทรรศการ XXII Triennale di Milano, Broken Nature ในปี 2562 ซึ่งอุทิศให้กับแนวคิดการออกแบบเพื่อการบูรณะ เธอก็ได้รับหน้าที่ดูแลนิทรรศการ Material Ecology ของ MoMA ซึ่งเป็นผลงานของสถาปนิก Neri OXMAN นอกจากนี้ เธอยังมีอินสตราแกรม @design.emergency ที่ทำร่วมกับนักวิจารณ์การออกแบบ Alice RAWSTHORN เพื่อสำรวจบทบาทของการออกแบบในการสร้างอนาคตที่ดีกว่าสำหรับทุกคน
- ชื่อผลงานและศิลปิน (ตามลำดับตัวอักษร)
[ผลงานศิลปะจัดวาง] Crowd Cloud โดย SUZUKI Yuri และ HOSOI Miyu
หัวใจหลักของงานศิลปะชินนี้คือเสียงของมนุษย์ โดยศิลปินได้กลั่นเสียงของภาษาญี่ปุ่นเพื่อสร้างองค์ประกอบและประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใคร ซึ่งเสียงนั้นสะท้อนมาจากการประสานเสียงของฮอร์นนับสิบตัว ประหนึ่งผู้คนที่กำลังรอคอยเพื่อนและญาติในอาคารผู้โดยสารของสนามบินนั่นเอง
SUZUKI Yuri เป็นศิลปินและนักออกแบบผู้แสวงหาความเป็นไปได้ของเสียงและดนตรีจากประสบการณ์ในชีวิตประจำวัน นับตั้งแต่ปี 2561 เขาได้เป็นหุ้นส่วนของ Pentagram บริษัทที่ปรึกษาอิสระรายใหญ่ที่สุดในโลก ผลงานสร้างสรรค์ของเขาครอบคลุมทั้งด้านการออกแบบ ดนตรี และศิลปะ โดยมีผลงานตั้งแต่งานศิลปะสาธารณะ ผลิตภัณฑ์ ไปจนถึงอัตลักษณ์และองค์ประกอบด้านเสียง ผลงานของเขาได้รับการยอมรับด้วยรางวัลมากมายในอุตสาหกรรม และถูกนำไปจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ระดับนานาชาติมากมาย เช่น Museum of Design Museum London, Israel Museum และ Museum of Modern Art ในนิวยอร์ก
HOSOI Miyu เป็นศิลปินด้านดนตรีและเสียงซึ่งเกิดในปี 2536 เธอมีความกระตือรือร้นในการนำศิลปะหลายแขนงมาสร้างสรรค์ศิลปะจัดวางเพื่อสร้างการตระหนักรู้ถึงเสียงรอบข้าง โดยใช้ระบบเสียงหลายช่องในการผลิตผลงานศิลปะ เธอเป็นที่รู้จักจากผลงานการพากย์เสียงด้วยตัวเอง โดยผลงานสร้างชื่อ "Lenna" บนช่อง 22.2 ได้ถูกนำเสนอในสถานที่ต่าง ๆ รวมถึง NTT InterCommunication Center [ICC] Anechoic Room, Yamaguchi Center for Arts and Media [YCAM], Tokyo Metropolitan Theatre Concert Hall และ Audio Engineering Society ทั้งนี้ เธอคว้ารางวัล New Face Award สาขา Art Division ในงาน Japan Media Arts Festival ครั้งที่ 23
[ผลงานวิดีโอ] ผลงานวิดีโอ 6 รายการ โดยศิลปิน 6 กลุ่ม นำนักเดินทางไปรู้จักกับวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่มีความหลากหลายและผสมผสานกันอย่างลงตัว
Theme Park Tokyo โดย acky bright
ผลงานนี้นำผู้ชมร่วมสำรวจเมืองโตเกียวด้วยม้วนภาพแบบโบราณและมังงะร่วมสมัย
acky bright เป็นนักวาดภาพประกอบและศิลปินมังงะ ซึ่งเป็นที่รู้จักจากงานศิลปะลายเส้นขาวดำ เขามีผู้ติดตามมากมายในต่างประเทศ ด้วยสไตล์อันเป็นเอกลักษณ์ที่ผสมผสานอนิเมะ-มังงะญี่ปุ่นยุค 80 และ 90 และมุมมองสมัยใหม่ ผลงานจำนวนมากได้รับการเผยแพร่ในชื่อ "Doodle" ผ่านโซเชียลมีเดียและงานวาดภาพสด ผลงานมังงะเรื่องใหม่ของเขา "Shin Henkei Shojo (New Transformer Girls)" (DLE) กำลังเผยแพร่ผ่านทางออนไลน์ในขณะนี้
Hitoshobu (One Shot) โดย Jun Inoue
ผลงานนี้แสดงงานวาดสดของศิลปินและธรรมชาติของอักษรวิจิตร (Calligraphy)
ศิลปินแสดงให้เห็นถึงจิตวิญญาณที่ละเอียดอ่อนเป็นเอกลักษณ์เฉพาะของญี่ปุ่น ผ่านลายเส้นเพื่อสร้าง "สเปซ" ที่เป็นเอกลักษณ์ เขาผสานแนวคิดสมัยใหม่เข้ากับจิตวิญญาณดั้งเดิมเพื่อกระตุ้นจิตสำนึกของผู้ชม การเชื่อมโลกแห่งแฟชั่นและดนตรีเข้าด้วยกันทำให้ผลงานของเขาถูกนำไปจัดแสดงในสถานที่ต่าง ๆ รวมทั้งได้นำเสนอผลงานศิลปะและแสดงการวาดภาพสด เขาจัดนิทรรศการส่วนตัวมากมายทั้งในญี่ปุ่นและต่างประเทศ เช่น เมลเบิร์นและปารีส
Gravity Garden โดย KODAMA Sachiko
ผลงานนี้สร้างสรรค์โดยใช้แม่เหล็กเหลวเรืองแสงสีแดง สีเขียว และสีน้ำเงิน เพื่อแสดงภาพสวนญี่ปุ่นผ่านพลังงานแม่เหล็กและแรงโน้มถ่วง
หลังจบการศึกษาจาก School of Science แห่งมหาวิทยาลัยฮอกไกโด เธอได้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาเอกด้านศิลปะที่ Graduate School of Art and Design แห่งมหาวิทยาลัยสึคุบะ นับตั้งแต่ปี 2543 เป็นต้นมา เธอได้กลายเป็นผู้บุกเบิกการใช้แม่เหล็กเหลวในงานศิลปะ โดยผลงานเด่นอย่าง "Protrude, Flow" (ได้รับการคัดเลือกโดย SIGGRAPH Art Gallery ในปี 2544) ได้รับรางวัล Grand Prize สาขา Digital Art (Interactive Art) Division ในงาน Japan Media Arts Festival ครั้งที่ 5 นอกจากนี้ ผลงานศิลปะของเธอยังถูกนำไปจัดแสดงในกว่า 20 ประเทศ ทั้งในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ แกลเลอรี พื้นที่สาธารณะ และบ้านส่วนตัว เธอไม่เพียงสร้างความเปลี่ยนแปลงต่อวงการศิลปะและการออกแบบเท่านั้น แต่ยังรวมถึงสาขาที่เกี่ยวข้องอีกมากมายด้วย